กระทรวงคลัง 23 ม.ค. – รองนายกฯเป็นประธานประุชมเพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ตามกรอบของธนาคารโลก โดยเร่งดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการ Doing Business ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัดการแก้ไขอุปสรรค กฎระเบียบ หวังอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ หลังจากไทยอยู่ในอันดับ 46 จากประเทศสมาชิกของธนาคารโลก 190 ประเทศ ขณะนี้ ไทยได้แก้ไขด้านต่างๆคืบหน้าไปมากแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ วันนี้ธนาคารโลกได้นำเสนอผลการศึกษาแนวทางแก้ไขระยะสั้น และระยะยาว เพื่อเตรียมเข้ามาประเมินอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2560
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารโลกได้เสนอให้ไทยเร่งดำเนินการแก้ไข 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การจดทะเบียนบริษัทเอกชน โดยให้กำหนดข้อบังคับของบริษัทส่งให้กับกรมธุรกิจการค้ารับทราบ แต่ปัจจุบันไทยได้แก้ไขไปแล้ว เพียงติดประกาศไว้ที่บริษัทโดยไม่ต้องนำส่งให้ทางการ การเสนอให้ยกเลิกการใช้ประทับตราบริษัท เนื่องจากหลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ข้อกำหนดชำระทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ประเด็นเหล่านี้กระทรวงพาณิชย์ ต้องกลับไปศึกษาให้ครอบคอบ เพราะที่ผ่านมากำหนดไว้ป้องกันการจดทะเบียนแบบมือเปล่า และเพื่อสร้างความมั่นคง เวิลด์แบงก์ยังเสนอให้ยื่นจะทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อความสะดวกกับภาคธุรกิจ
- การจดทะเบียนที่ดินและทรัพย์สิน ธนาคารโลกเสนอให้ยกเลิกการจดทะเบียนเฉพาะสำนักงานในพื้นที่ และงดใช้สำเนาเอกสารหลักฐาน เนื่องจากได้เชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลกับหลายหน่วยงานที่มีเอกสาร หลักฐานแล้ว การเสนอให้จดทะเบียนได้ทุกที่เพื่อความสะดวก และเสนอการเปิดเผยรายชื่อการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือทรัพย์ เนื่องจากกว่า 140 ประเทศทั่วโลกได้เปิดเผยให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่สำหรับไทย กระทรวงมหาดไทยต้องศึกษาหลายด้าน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้เพียงบางส่วน สำหรับผู้ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อลงทุนหรือใช้ประโยชน์ด้วยการเข้ามาขออนุญาตดูข้อมูล โดยหน่วยงานต้องรับทราบการเข้าถึง ไม่ใช่เปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าไปดูว่าใครมีทรัพย์สินเท่าใด
- ธนาคารโลกเสนอให้ลดขั้นตอนการขอใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจให้มีความรวดเร็ว การแจ้งอัตราค่าไฟฟ้าในรอบปี เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง 4. การเข้าถึงข้อมูลเครดิต สำหรับผู้ค้างค่าไฟฟ้า สาธารณูปโภค ค้าปลีก ธปท.รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวว่าดำเนินการได้หรือไม่ 5. ใบอนุญาตการก่อสร้าง ได้เสนอลดขั้นตอนการควบคุมดูแลการก่อสร้าง หลังเอกชนก่อสร้างแล้วเสร็จ วิธีการตรวจรับงานควรสะดวกรวดเร็ว ขณะที่ กทม.เสนอว่าเริ่มใช้แนวทางติดตามและตรวจรับงานได้อย่างรวดเร็วเพียง 2-3 วัน และใช้วิธีบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เพียงตึกสูงเท่านั้นที่มีความเสี่ยง
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระดับราชการ (กพร.) เปิดเผยว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลของหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน การเร่งรัดติดตาม การเสนอ พ.ร.บ.,กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจว่าอยู่ระหว่างการพิจาณาของหน่วยงานใด กพร.เตรียมกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับธนาคารโลก เพื่อเร่งดำเนินการในด้านต่างๆให้คืบหน้า .-สำนักข่าวไทย