ทำเนียบฯ 24 พ.ย.-ศบค.พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 5,857 ราย ย้ำการป้องกันระดับครอบครัว หลังผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 4 ราย พร้อมเฝ้าระวัง 13 จังหวัด แนวโน้มติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ 5,857 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,053,129 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,318 ราย รวมหายป่วยแล้ว 1,952,445 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 81,577 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,529 ราย, ใส่เครื่องช่วยหายใจ 358 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 55 คน ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 20,450 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมรอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 – 24 พฤศจิกายน 2564 โดยผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 5,857 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 5,618 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 5,349 ราย, จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 269 ราย, จากเรือนจำ 228 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 11 ราย
สำหรับผู้ที่เสียชีวิตวันนี้ 55 คน เป็นชาย 33 คน หญิง 22 คน เป็นคนไทย 53 คน เป็นผู้ที่มีอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 73 ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 25 และพบว่า มีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิต 4 ราย จึงต้องเน้นย้ำเรื่องการดูแลป้องกันทางการจัดเตรียมสถานที่ การใส่หน้ากากตลอดเวลาแม้อยู่ในบ้าน และการแยกรับประทานอาหาร
ขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯมีแนวโน้มลดลง ค่อนข้างคงที่อยู่ที่ร้อยละ 13 ขณะที่จังหวัดปริมณฑลผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน อยู่ที่ร้อยละ 8 บางจังหวัดพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 13 จังหวัด ได้แก่ กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 100 ราย และผล ATK มากกว่าร้อยละ 5 มี 5 จังหวัด คือ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายต่อวัน แต่ผล ATK น้อยกว่าร้อยละ 5 ได้แก่ ขอนแก่น สระแก้ว และนครราชสีมา กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อ 80-100 รายต่อวัน ได้แก่ สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ส่วนจังหวัดที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่มีรายงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8 จำนวน 5 จังหวัด โดยมี 1 จังหวัด ที่มีรายงานการติดเชื้อรายวันมากกว่า 100 ราย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่แม้เริ่มมีทิศทางแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อยอยู่ ขณะที่อีก 4 จังหวัด ที่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แต่จำนวนน้อยกว่า 100 รายต่อวัน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน พิษณุโลก และสิงห์บุรี แต่ต้องมีการเข้มงวดในเรื่องมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นการติดเชื้อในระดับชุมชน และระดับครอบครัว ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดในจำเป็นต้องกำกับใกล้ชิดมากขึ้น .-สำนักข่าวไทย