กรุงเทพฯ 22 พ.ย.- เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศความร่วมมือ รวมกิจการของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรู) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ
ทั้งนี้ ระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทคจะยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ขณะที่เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่ากันในบริษัทใหม่ นอกจากนี้ ทรูและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่ง การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่ และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับตัวนอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็ว ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงข่ายการสื่อสาร ทำให้การปรับโครงสร้างของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้ ถือว่ามีความสำคัญ โดยการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีจะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคมจะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชั่น และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีโดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจด้วย
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า เชื่อว่า บริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้ ด้วยการผนวกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับการบริการที่ดึงดูดลูกค้า
นายเยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเซียกล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างฐานในเอเชียให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเสริมความมุ่งมั่นและพันธกิจนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญสำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น โดยจะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย -สำนักข่าวไทย