กรุงเทพฯ 17 พ.ย.-ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยตลาดที่อยู่อาศัย ไตรมาส 3 ถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลัง ธปท. คลายล็อก LTV และมาตรการลดค่าโอน ครบกำหนดสิ้นปี มีแนวโน้มดีขึ้นไตรมาส 4 ขณะที่ยอดรวมทั้งปี 64 ยังหดตัว ยอมรับภาคอสังหาฯ จะฟื้นตัวเป็นปกติปลายปี 66
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 64 ตลาดที่อยู่อาศัยถึงจุดต่ำสุดแล้ว พบว่า การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ลดลงอย่างมากในไตรมาส 3 ปี หน่วยได้รับใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ มีเพียง 16,804 ลดลงร้อยละ -28.2 และ ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑล 14,601 หน่วย ลดลงร้อยละ -55.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน
หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อกระตุ้นแรงซื้อภาคอสังหาฯ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาถึงเกือบ 2 ปี เมื่อรัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศโดยคาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ต้องใช้เงินดาวน์ สามารถกู้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่การปฏิเสธสินเชื่อร้อยละ 20-30 สำหรับบ้านราคาเกิน 3 ล้านบาท นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี
ศูนย์ข้อมูลฯจึงคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปี มีแนวโน้มดีขึ้น เห็นจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 20,050 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 เทียบกับ ปี 63 และในไตรมาส 4 คาดมีการโอนกรรมสิทธิ์ 95,221 หน่วย มูลค่า 262,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และคาดการณ์ทั้งปี 2564 ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ มีทั้งสิ้น 43,051 หน่วย จำนวนเหลือขาย 278,236 หน่วย มูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเตรียมรับมือยอด NPL มุ่งเจรจาประนอมหนี้
แม้จะมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยกลยุทธ์การกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้ประกอบการผนวกกับการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับตัวลดลงของอุปทานที่อยู่อาศัยเข้าใหม่ดังกล่าวมาข้างต้นได้ส่งผลต่อภาพรวมหน่วยเหลือขายใน 27 จังหวัดลดลงตามไปด้วย จึงคาดการณ์ ปี 2564 มีหน่วยเหลือขาย 264,412 หน่วย มูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนการแจกโปรโมชั่น ลดแลก แจกแถม อาจน้อยลงในปีนี้ เเพราะต้นทุนเอกชนยังสูง และช่วงนี้เป็นโอกาสของผู้ซื้อในการจัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
สำหรับแนวโน้มปี 2565 จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะทำให้ความต้องการบ้านเพิ่มขึ้นได้ นโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการต่างๆที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น ศูนย์ข้อมูลฯ มองว่าเครื่องชี้ทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาเป็นปกติภายในปลายปี 2566.-สำนักข่าวไทย