ทำเนียบรัฐบาล 8 พ.ย.-รัฐบาลเตรียมประกาศคำมั่นสิทธิมนุษยชนต่อสหประชาชาติ 10 พ.ย.นี้ พร้อมมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่3 ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการจัดขึ้นทุก 4 ปีครึ่ง สำหรับครั้งนี้ ผู้แทนของประเทศไทยจะประกาศคำมั่นโดยสมัครใจยืนยันเจตนารมณ์การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล สรุปดังนี้ 1. ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ
“2. ศึกษาความเป็นไปได้ของการเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมทั้งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน 3. จัดทำรายงานระยะกลางเพื่อรายงานความคืบหน้าของการปฎิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับ รวมทั้งหารือกับภาคส่วนต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นตามข้อเสนอแนะที่ไทยไม่ได้ตอบรับ 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศและพหุภาคีเพื่อการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาด” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า 5. ร่วมมือขจัดความไร้รัฐและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา การคุ้มครองทางสังคม การเข้าถึงบริการการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฏรของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการพิจารณาให้สัญชาติและสิทธิความเป็นพลเมือง 6. เร่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาและการสร้างความรู้ตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วน 7. พิจารณาแนวทางส่งเสริมมาตรการบังคับสำหรับภาคธุรกิจในการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน 8. ยืนยันการประกาศ standing invitation ต่อกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยจะตอบรับข้อเสนอแนะ ซึ่งประกอบด้วย 1. ข้อเสนอแนะที่เคยรับไว้แล้วในรอบที่ 1 (ปี2554) และรอบที่ 2 (ปี2559) 2. ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานในปัจจุบัน เช่น การป้องกันและปราปปรามการทุจริต การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 3. ข้อเสนอแนะที่เป็นค่านิยมเชิงหลักการที่ไทยยึดถือและปฏิบัติมาตลอด เช่น ความเท่าเทียมทางเพศการไม่เลือกปฏิบัติ 4. ข้อเสนอแนะที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชนในประเทศ และ 5. ข้อเสนอแนะที่หน่วยงานมีความพร้อมที่จะรับดำเนินการ เช่น การเพิ่มมาตรการและการสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การศึกษาและจัดอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการบังคับใช้ กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-SLAPP Law) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161 / 1 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
“รัฐบาลมุ่งมั่นให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ แนวทางในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจและการพิจารณาตอบรับข้อเสนอแนะ ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบแนวทางการพัฒนาประเทศ ค่านิยมเชิงหลักการของสังคม และความพร้อมในการดำเนินการของหน่วยงาน ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ” น.ส.รัชดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย