กรุงเทพฯ 4 พ.ย. -EXIM BANK จับมือ KBank และ BBL สนับสนุนเงินกู้ร่วมวงเงินกว่า 900 ล้านบาท ให้กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 39 เมกะวัตต์ ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย กัมพูชา โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา 20 ปี เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ร่วมกับนายทิพากร สายพัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBank) นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัท เรย์เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 39 เมกะวัตต์ ที่เมืองศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา (Electricite Du Cambodge : EDC) ระยะเวลา 20 ปี และดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การร่วมสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เป็นนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ สปป.ลาว และเวียดนาม โดยครั้งนี้ นับเป็นการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการขยายตัวของเมืองศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนเจย และความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
“ภารกิจหนึ่งของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก เราจึงพัฒนารูปแบบการสนับสนุนทางการเงินและขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันสร้างโลกที่ดีขึ้นและคุณภาพชีวิตของประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว” ดร.รักษ์กล่าว.-สำนักข่าวไทย