ราชบพิธ 31 ม.ค. – ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศประเมิน 1 ปี เออีซี สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปได้ประโยชน์ แนะรัฐสร้างความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าไปทำตลาดในเออีซีมากขึ้น
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมิน 1 ปี การส่งออกสินค้าเกษตรไทยหลังเข้าสู่เออีซี ปี 2559 พบว่าผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปร้อยละ 59.2 เห็นว่าได้ประโยชน์จากการเข้าสู่เออีซี ในจำนวนนี้ผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปร้อยละ 95.2 มองว่าการเข้าสู่เออีซีได้รับประโยชน์สูงสุด รองลงมาเป็นข้าวโพดและถั่วเหลือง
สำหรับปัจจัยสนับสนุน อันดับแรก ความสะดวกทางการค้ามากขึ้น อุปสรรคลดลง ขั้นตอนส่งออกง่าย ถึงร้อยละ 44.6 รองลงมา ตลาดอาเซียนขนาดใหญ่เป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้ามากขึ้นร้อยละ 34.6 และการลดภาษีเป็นประโยชน์ต่อการนำเข้าวัตถุดิบในประเทศอาเซียนร้อยละ 9.2 ขณะที่ผู้ส่งออกสินค้าประเภทข้าว มะม่วง และมันสำปะหลัง มองว่าเสียประโยชน์ เนื่องจากมีเงื่อนไข มาตรการ และรายละเอียดข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค การขายสินค้าเกษตรบางประเภท รูปแบบ และเงื่อนไขการค้าไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะเปิดเออีซี และต้นทุนของไทยสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ส่งผลให้คู่แข่งที่ต้นทุนต่ำได้เปรียบในการแข่งขันและมีคู่แข่งขันมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปร้อยละ 49.5 คาดว่าการส่งออกสินค้าไปอาเซียนปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2559 คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปอาเซียนจะอยู่ที่ 369,781 ล้านบาท สิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์จากเออีซีเต็มที่ คือ การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสินค้าและศักยภาพของผู้ส่งออก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองลงมาการจัดกิจกรรมส่งเสริมเอสเอ็มอี ในการเข้าไปทำตลาดในเออีซี เช่น การแสดงสินค้า พร้อมปรับปรุงขั้นตอนหรือเอกสารการส่งออกและการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการจูงใจการส่งออกอย่างชัดเจน เพราะมีการแข่งขันจากประเทศในอาเซียนสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่คาดว่าการเป็นประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งในตลาดโลก ตลาดสหรัฐ และตลาดอาเซียน โดยตลาดสหรัฐผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปร้อยละ 13.8 คาดว่ามูลค่าส่งออกลดลง เพราะนโยบายทรัมป์ไม่สนับสนุนการค้าเสรีอาจจะมีการกีดกันสินค้าจากเอเชีย หรือใช้มาตรการต่าง ๆ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรไทยอยู่อันดับที่ 4 ของอาเซียน มูลค่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดอาเซียน มีมูลค่า 7,416 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์ในตลาดอาเซียน คือ ข้าวสาร ยางพารา ข้าวโพด ถั่วเหลือง มะม่วงสดและแห้ง เนื้อสัตว์แปรรูป ขณะที่ปี 2560 คาดว่ามูลค่าส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดอาเซียนจะลดลงร้อยละ 10 เนื่องจากมีสินค้าบางประเภทผลิตน้อยลง
ขณะที่มูลค่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาด CLMV มีมูลค่า 1,050 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่ได้ประโยชน์ในตลาด CLMV คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง มะพร้าว มะม่วงสดและแห้ง กล้วยสดและแห้ง เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป.-สำนักข่าวไทย