พรรคเพื่อไทย 19 ต.ค.- เพื่อไทยเรียกร้องประชาชน-สื่อ จับตาคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัครา 31 ต.ค.นี้ ชวนลงชื่อคัดค้านปกป้องสมบัติชาติ ชี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบหลังใช้ ม.44 สร้างความเสียหาย
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวเรื่องมหากาพย์ค่าโง่ เหมืองทองอัครา !! “ปกป้องทรัพย์สมบัติชาติ ไม่ให้นำไปชดใช้ความผิดพลาดจากการปิดเหมืองทองอัคราของคสช.” ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ดำเนินการ โดยนายสมพงษ์ กล่าวถึงข้อห่วงใยการดำเนินการของรัฐบาล โดยเฉพาะความเสียหายที่อาจเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ ซึ่งกรณีเหมืองทองอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ และเมื่อ 23 กันยายน2564 ที่ผ่านมา บริษัทคิงส์เกตได้แถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ในออสเตรเลีย แจ้งการเจรจากับรัฐบาลไทยขออนุญาตดำเนินการเรื่องต่าง ๆ โดยเร็วนั้น จึงมีความห่วงเรื่องการเจรจา ก่อนจะยื่นให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน 31 ตุลาคมนี้ กังวลว่าหากเป็นไปตามที่คิงส์เกตแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
น.พ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยติดตามมาโดยตลอด ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ส.ส.ของพรรคนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ได้อภิปรายเปิดประเด็นไว้เมื่อปี 2562 และ นางสาวจิราพร อภิปรายไม่ไว้วางใจปีนี้ที่เพิ่งผ่านมา ก่อนจะอธิบายถึงการใช้กฎหมายมาตรา 44 ที่72/2559 ของ คสช. ระงับการทำเหมืองแร่ทองคำเมื่อ 1 มกราคม 2560 จากนั้นได้นำประเด็นพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2560 ก่อนจะเข้ากระบวนการไต่สวน บริษัทคิงส์เกตเรียกค่าเสียหาย 22,500 ล้านบาท ซึ่งไต่สวนที่ประเทศสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้น 23 กันยายน 2564 บริษัทคิงส์เกตแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ของออสเตรเลียเรื่องการเจรจากับไทยว่าจะได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์ โดยจะประกาศข้อตัดสินชี้ขาด 31 ตุลาคมนี้
“ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศที่ประชุมครม.ว่าจะรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 พรรคจึงอยู่นิ่งไม่ได้ เพราะอนุญาโตตุลาการเตรียมออกคำตัดสินชี้ขาด แต่คู่พิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัทคิงส์เกตได้เจรจาตกลงกันว่าจะขอยืดเวลาสั้น ๆ ให้อนุญาโตตุลาการพิเศษออกคำตัดสินในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ในข้อเจรจายุติประนีประนอมข้อพิพาทที่สองฝ่ายพึงพอใจ ซึ่งถ้อยแถลงการของคิงส์เกตุ มีส่วนหนึ่งที่คนไทยต้องสนใจว่าจะเป็นมหากาพย์ค่าโง่ ที่ไทยจะสูญเสียทรัพย์สมบัติของชาติ เพื่อแลกกับความผิดพลาดของคสช. โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ยึดเหมืองทองของเขามาเป็นของรัฐโดยมิชอบ ซึ่งมาตรา 44 เป็นกฎหมายบังคับใช้ที่ไม่ผ่านรัฐสภา” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่บ.คิงส์เกตแถลงอยู่นอกเหนือข้อพิพาท อ้างถึงคือ 1.ข้อเสนอของคิงส์เกตจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด ได้รับการอนุญาตทำเหมือนได้ใหม่ทั้งหมด 2. ยังได้ได้รับทำเหมืองในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมนอกจากเหมืองทองชาตรีที่มีอยู่ 3,900 ไร่ 3.คิงส์เกตมีความมั่นใจว่าจะได้นับการสนับสนุนการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์จากรัฐบาลไทย มีนักลงทุนจากไทยไปร่วม และการดำเนินการครั้งใหม่จะได้รับค่าช่วยเหลือค่าภาคหลวงและภาษีต่างรวมถึงกระบวนการอนุมัติจะดำเนินการโดยเร็ว แต่ข้ามขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมายไทย
“หากรัฐบาลไทยยินยอมเช่นนั้น และคำแถลงของคิงส์เกตไปปรากฎในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจริง คาดว่าไทยจะเสียหายอย่างมหาศาล เป็นการประนีประนอมที่เอาทรัพย์สมบัติชาติไปแลกกับความผิดพลาดของคสช. หรือหากอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ไทยแพ้ ไทยก็ต้องชดใช้ เพราะเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้ ที่เรียกว่า “นิวยอร์กคอนเวนชัน” ซึ่งคำตัดสินออกมาประชาชนไทยมีสิทธิ์ร้องคัดค้านให้ศาลไทยไม่ปฏิบัติตาม เพื่อร่วมกันปกป้องสมบัติชาติ” นพ.ชลน่าน กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยออกมาชี้แจงเรื่องนี้ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ แต่กลับเก็บเป็นความลับ สถานการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับคดีเหมืองทองอัคราอยู่ในสภาวะแพ้คดีก็เสียหาย เจรจาก็เสียเปรียบ เพราะหากไทยแพ้คดี จะมีค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 25,350 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่บริษัทคิงส์เกตร้องขอชดเชยค่าเสียหาย 11 รายการ หนึ่งในนั้นคือการ ขอต่ออายุและขอให้ไทยอนุมัติในใบอนุญาตสำรวจสำคัญ และเมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทคิงส์เกตยังมีใบอนุญาตทำเหมืองแร่และการขออัชญาบัตรพิเศษ ในการสำรวจแร่ 6 จังหวัดคือ ชลบุรี ลพบุรี พิจิตร พิษณุโลกและสระบุรี เป็นคำขอที่ค้างไว้และให้ประเทศไทยอนุมัติรวมพื้นที่ทั้งหมด 6 แสนไร่
“เท่ากับว่าจะมีสมบัติของชาติเกือบ 1ล้านไร่ ที่ต้องเสียค่าโง่จากการใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราของพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องให้ไทย คืนใบอนุญาตให้ บริษัทคิงส.เกต กลับมาดำเนินการในเหมืองทองชาตรีที่ถูกระงับไป หากพล.อ.ประยุทธ์เปิดทางให้คืนใบอนุญาตตามที่ร้องขอ คำถามคือ เหตุใดจึงใช้คำสั่งม.44 สั่งปิดเหมืองทองชาตรีทองคำตั้งแต่แรก ซึ่งการปิดทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างหนัก และเมื่อมีการขอเจรจาปรับมีความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมสรุปแล้วการปิดเหมืองทองคำ ต้องเสียหายมากกว่าเดิมหรือไม่” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกต เคยยื่นดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2560 ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณกรุงแคนเบอร์รา เพื่อขอเจรจากับประเทศไทยเพื่อไม่ต้องนำเรื่องเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการ แต่พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธ พร้อมยืนยันจะไม่เปิดให้ทำเหมืองทองคำในประเทศไทยอีกต่อไป แต่มาถึงวันนี้กลับพบว่าสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์เคยปฏิเสธถูกนำไปดำเนินการตามข้อเรียกร้องของบริษัทคิงส์เกต 4 แสนไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มอีก 6 แสนไร่
“แม้ขณะนี้ยังไม่มีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการ ต้องรอวันที่ 31 ตุลาคม นี้ แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว เพราะทันทีที่สั่งปิดเหมืองทองอัครา ส่งผลกระทบให้ประชาชนกว่า 1000 ชีวิตตกงาน ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พล.อ.ประยุทธ์อ้างต้องสั่งปิดเหมืองทอง ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการใช้ ม.44 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างมาก เพราะการสั่งปิดโดยที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเป็นการแสดงถึงความไม่เข้าใจ และการใส่ใจในกฎกติการะหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและความเชื่อมั่นของประเทศที่ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ โดยสิ่งสำคัญมีใบเสร็จความเสียหายเกิดขึ้น หลังครม.อนุมัติงบจากภาษีประชาชนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท จำนวน 731 ล้านบาท จึงขอตั้งคำถามไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ว่าการใช้งบประมาณแผ่นดิน ไปดำเนินการในคดีที่เป็นความผิดของตัวเอง แบบนี้เป็นความรับผิดชอบของชายชาติทหารหรือไม่” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ผู้ที่ใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราคือพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นจำเลยหลักในคดีนี้ และ มีคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นจำเลยร่วม การใช้มาตรา44 อาจทำให้ผู้ใช้รอดในประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้ประเทศรอดจากกฎกติการะหว่างประเทศ ความเสียหายของคดีเหมืองทองอัคราเป็นตัวอย่างความเร็วร้ายของ มาตรา44 เป็นมรดกบาปของคณะรัฐประหารที่สร้างไว้กับประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่ต่างชาติฟ้องร้อง พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมือง ยืนยันว่าได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติในประเด็นเหมืองทองอัครามาโดยตลอด และขอเรียกร้องให้ประชาชนสื่อมวลติดตาม การออกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในวันที่ 31 ต.ค.นี้ และขอให้ประชาชนร่วมกับพรรคเพื่อไทยลงชื่อคัดค้านพล.อ.ประยุทธ์นำสมบัติและภาษีของชาติ ไปชดใช้ความผิดของตนเอง โดยพรรคเพื่อไทยจะประกาศผ่านแพลตฟอร์มให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้าน.-สำนักข่าวไทย