โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ 16 พ.ย.-ประธานสพม.ชี้ การพัฒนาทางการเมืองต้องพัฒนาโครงสร้างพรรคการเมืองทุกระดับ ยืนยัน สภาพัฒนาการเมืองไม่เคยมีความเห็นเรื่องเซตซีโร่พรรคการเมือง เพียงแค่สอบถามความเห็นประชาชนเท่านั้น
สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) จัดแสดงผลงานสภาพัฒนาการเมือง รอบ 9 ปี ในหัวข้อ “9 ปี สภาพัฒนาการเมือง รวมพลังพลเมืองสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสพม.กล่าวเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สภาพัฒนาการเมืองกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตลอด ทำให้เริ่มมีแผนพัฒนาการเมือง และแผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกเกิดขึ้นในปี 2550 สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี
“แต่ขณะนั้นมีคำถามว่า เมื่อมีแผนแล้ว ใครจะเป็นผู้ปฏิบัติหรือประสานงานให้เป็นไปตามแผน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งขณะนี้สภาพัฒนาการเมืองได้จัดทำแผนพัฒนาการเมืองแผนที่ 2 ระยะ 5 ปีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงร่างแผนระยะยาวไม่ได้ โดยเตรียมส่งแผนพัฒนาการเมืองแผนที่ 2 ไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่อไป” นายธีรภัทร์ กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรก ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตย รากฐานของประชาชน ซึ่งไม่ต้องกังวล หากคนไทยส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะประชาชนจะไม่เลือกนักการเมืองที่ไม่ดี เนื่องจากประชาชนรู้ว่าสิ่งใดคือประชาธิปไตย สิ่งใดไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 ปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปคือพัฒนาโครงสร้างส่วนกลางและโครงสร้างส่วนบนคู่ขนานควบคู่ไปด้วย
“เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาสคุยกับนายทหารระดับพลเอก 3 นาย นายทหารเหล่านั้น บอกผมว่า พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาประชาธิปไตย แต่ผมเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นโครงสร้างส่วนกลางที่ต้องพัฒนาคู่ขนานไปด้วยกัน ยืนยันว่าสภาพัฒนาการเมือง ไม่ได้มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเซตซีโร่พรรคการเมืองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพียงแค่สอบถามความเห็นจากประชาชนเท่านั้น” นายธีรภัทร์ กล่าว
นายธีรภัทร์ กล่าวว่า แม่น้ำทั้ง 5 สายมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองและเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ซึ่งส่วนหนึ่งที่ใกล้สำเร็จแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว.-สำนักข่าวไทย