กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งการทุกพื้นที่เฝ้าระวังฝนตกหนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วม-น้ำหลาก จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ซึ่งขณะนี้อ่อนกำลังและเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแล้ว พร้อมเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะเริ่ม 1 พ.ย. นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ระบุว่า พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ซึ่งอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบน แล้วเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ประกอบกับร่องมรสุมกำลังแรงจะทำให้หลายพื้นที่มีฝนเพิ่มขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม และดินถล่ม ดังนี้
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และสระแก้ว
- ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
ส่วนระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ ดังนี้
- แม่น้ำน่าน อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
- แม่น้ำยม อำเภอสามง่าม และอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร
- แม่น้ำชี อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด และอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
- แม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- แม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี
- แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
- แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
- แม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำด้วย จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังซ้ำซาก พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และให้พิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก รวมทั้งเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ตามนโยบายของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า สั่งการเพิ่มเติมให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา.- สำนักข่าวไทย