ราชบุรี 8 ต.ค. – กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กอ.รมน. ติดตามการแก้ไขน้ำเสียฟาร์มหมูราชบุรี ขีดเส้นให้เร่งดำเนินการ หากละเว้นอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วย พล.ต.ภัทราวุฒิ ชุณหะวัณ รอง ผอ.ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. รวมทั้งนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอจอมบึง และเทศบาลเมืองจอมพล เข้าร่วมตรวจสอบและประชุมแก้ไขปัญหาน้ำเสียรั่วไหลจากฟาร์มเลี้ยงสุกรของบริษัท ศุภฤกษ์ฟาร์ม จำกัด ลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม
นายอรรถพลเปิดเผยว่า ประชาชนหมู่ที่ 5 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการมีน้ำไหลผ่านพื้นที่ของบริษัท ศุภฤกษ์ฟาร์ม จำกัด รั่วไหลเข้าที่ดินของประชาชน เกิดการท่วมขังเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้ โดยร้องเรียนต่อเนื่องมากว่า 3 ปี
จากข้อมูลการประกอบกิจการฟาร์มสุกรของบริษัท ศุภฤกษ์ฟาร์ม จำกัด จัดเป็นฟาร์มสุกรประเภท ก. โดยมีจำนวนสุกรแม่พันธุ์จำนวน 5,100 ตัว สุกรขุนจำนวน 20,000 ตัว และลูกสุกร จำนวน 20,000 ตัว ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภท กิจการเลี้ยงสุกรจากเทศบาลเมืองจอมพล และจากการเข้าตรวจสอบและพิจารณาร่วมกัน มีมติดังนี้
-ประเด็นด้านที่ดิน ให้เจ้าหน้าที่ที่ดินและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อำเภอ และ ทต.จอมพล ร่วมดำเนินการตรวจสอบการออกโฉนดรุกล้ำที่ดินสาธารณะและที่ดินป่าไม้หรือที่ดินของรัฐอื่นๆ หรือไม่
- ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ให้ คพ. พิจารณาค่าปรับ โดยคำนึงถึงปริมาณมลพิษให้เหมาะสมกับความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองในการแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำได้ตามมาตรฐาน และหากเมื่อครบกำหนดคำสั่งทางปกครองในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 แล้ว ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ สสภ. 8 ดำเนินการปรับตามที่กฎหมายกำหนด
- การดำเนินการทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (เทศบาลฯ) สั่งให้ผู้ประกอบการแจ้งให้แก้ไขปรับปรุงตามระเบียบและกฎหมาย ภายในวันนี้ (8 ตุลาคม) และให้พิจารณาสั่งพักใบอนุญาต ตามนัยมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ตามขั้นตอน รวมถึงการแจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ กรณีผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย กฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาต โดยให้ดำเนินการภายในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 และหากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ ขอให้ สสภ. 8 ดำเนินการแจ้งความฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และแจ้ง ปปท. ดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (เทศบาลฯ) ดำเนินการตามขั้นตอนส่งเรื่องการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้คณะกรรมการเปรียบเทียบ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และให้ คพ. สนับสนุนข้อมูลการตรวจสอบให้ประชาชนนำไปฟ้องศาลปกครอง ให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยินดีลงทุนก่อสร้างทางระบายน้ำที่มาตรฐาน ขอให้อำเภอ และ สสภ. 8 จัดประชุมไตรภาคี เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและหาทางออกร่วมกัน และหลังจากวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หากยังมีน้ำเสียรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อประชาชน จะดำเนินการตามกฎหมาย ทุกฉบับ ทั้งผู้ที่ทำให้เสียหายและเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย.- สำนักข่าวไทย