กรุงเทพฯ 21 ก.ย.-ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ สาธารณสุข อุตสาหกรรม และพลังงาน ร่วมหารือเกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ให้สามารถนำขยะติดเชื้อไปกำจัดในเตาเผาของโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง แก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้นจากสถานการณ์โควิด-19
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมอนามัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานกำกับกิจการพลังงานเพื่อเร่งปรับหลักเกณฑ์การกำจัดขยะติดเชื้อ ให้สามารถนำไปกำจัดในเตาเผาโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นการชั่วคราวได้ เพื่อแก้ปัญหาขยะติดเชื้อล้นระบบ
ทั้งนี้ จากการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้มีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ตามกฎหมายไม่สามารถนำไปเผาในเตาเผาขยะชุมชนและเตาเผาขยะอุตสาหกรรม จึงมีการนำขยะติดเชื้อไปเผาศพอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีกำจัดที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากเตาเผาศพส่วนใหญ่มีอุณหภูมิที่ใช้ในการเผาต่ำกว่าเตาเผาขยะติดเชื้อที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 แต่การฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ต้องใช้ความร้อนสูงมาก ประกอบกับเตาเผาศพไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ จึงก่อให้เกิดปัญหากลิ่น ฝุ่นละออง ก๊าซพิษ รวมถึงโลหะหนักต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาเตาเผาศพชำรุดและเกิดไฟไหม้เสียหายเพราะการก่อสร้างเตาเผาศพไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความแข็งแรงและคงทนต่อการเผาเป็นเวลานาน
นายอรรถพลกล่าวต่อว่า เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีหน้าที่เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเพื่อนำไปเผาในเตาเผาซึ่งออกแบบมาเฉพาะสำหรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ โดยมีห้องเผา 2 ห้องคือ ห้องที่ 1 เป็นห้องเผาขยะซึ่งมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียสและห้องที่ 2 เป็นห้องเผาควันที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้ฝุ่นละอองและก๊าซต่างๆ ลดลง รวมทั้งต้องติดตั้งอุปกรณ์บำบัดมลพิษทางอากาศดักไว้เพื่อให้ได้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ทำให้เพื่ออากาศเสียที่ปล่อยออกจากเตาเผาอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.- สำนักข่าวไทย