กรุงเทพฯ 15 ก.ย.- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แถลงข่าว EIC Press Briefing ในหัวข้อ “มุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 3 ปี 2564” พร้อมจับสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายปี 2564
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center SCB EIC ระบุว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เหลือ 0.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 0.9% มีสาเหตุหลักจากผลการระบาดในประเทศระลอกที่สามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด โดยได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนคน (เดิมคาด 3 แสนคน) จากความกังวลของสถานการณ์ระบาดในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์จะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ จากอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้ จะขยายตัวได้ 15% โดยการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี จะมีทิศทางชะลอลงบ้างทั้งจากฐานที่ปรับสูงขึ้น และผลกระทบของการระบาดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิด Supply disruption ในหลายห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน
ในส่วนของภาครัฐ ยังมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการพยุงเศรษฐกิจหลายประเภท อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.7% ได้ หากการระบาดโควิดกลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 นี้ จนทำให้รัฐบาลต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ หากการใช้จ่ายของภาครัฐตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในปีนี้ทำได้น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสหดตัว -0.5% ได้
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่เท่ากับปี 2562 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยแม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง
นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับปี 2565 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3.4% จากการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น โดยอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกในปีหน้าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ซึ่งทำให้การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.7% นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน
ด้านเศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 อาจมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสถึง 70-80% ของประชากร ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ สำหรับภาครัฐ แม้การใช้จ่ายบริโภคจะมีแนวโน้มหดตัวตามกรอบงบประมาณที่ลดลง แต่การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวจากเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการเมกะโปรเจกต์และอัตราเบิกจ่ายปี 2564 ที่ต่ำจากมาตรการปิดแคมป์คนงานที่จะกลับมาเร่งตัวในปีหน้า นอกจากนี้ ยังคาดว่าภาครัฐจะใช้เงินที่เหลือราว 3 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 2565
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ก็จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้า ๆ เนื่องจากผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ตัว คือ 1.แผลเป็นในภาคธุรกิจ 2.แผลเป็นในตลาดแรงงาน และ 3.แผลเป็นจากหนี้สิน โดยแผลเป็นในภาคธุรกิจ ที่การเปิดกิจการยังมีการหดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กิจการที่เปิดใหม่ในระยะหลังมักมีขนาดเล็กและอยู่ในสาขาที่มีการลงทุนน้อยกว่า
นอกจากนี้ แผลเป็นยังเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ราว 1.9% เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากในช่วงก่อนโควิด-19 โดยสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้ จะบั่นทอนความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในภาระหนักของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลางดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อลดขนาด Output loss และแผลเป็นเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้กระทบศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า.-สำนักข่าวไทย