สำนักข่าวไทย 10 ก.ย.-กระทรวงท่องเที่ยวฯ ผนึก กระทรวงทรัพย์ กระทรวงอุดมศึกษาฯ และ 8 องค์กรพันธมิตร บูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริม และสนับสนุน การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การ ท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล ภายใต้โครงการคาร์บอนบาลานซ์ ภายใต้ความร่วมมือของ 8 องค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คณะกรรมการ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทย ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศ (บพข.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดงานอีเว้นท์และจัดการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือการ ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล ให้กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชุมชนท่องเที่ยว นักเดินทาง นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลกจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยลดโลกร้อน
โดยร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เหมาะสม กับบริบทของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย ,สนับสนุนให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผลักดันให้เกิด เส้นทางท่องเที่ยว กิจกรรม บริการ และนวัตกรรม ที่จัดการด้วยแนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการจัดงานไทย ,ส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวไทยและการจัดงานไมซ์ให้มีการ นำแนวทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปใช้ในการจัดการและเข้าถึงแนวทางการออกแบบและสามารถชดเชย คาร์บอนได้โดยสะดวก , ร่วมดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการ เปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อันจะช่วย สร้างโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในตลาดสากล นำไปสู่การ เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนคือปัญหาระดับโลก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้กระทรวงทรัพย์ฯ ถือเป็นตัวกลางประสานงานภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาลต่อปี แต่ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก การลงนามครั้งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นกลไกลขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรรมท่องเที่ยวไทยในระดับสากลได้
ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวฯ ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมทั้งปรับตัวใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสรรค์สินค้า บริการท่องเที่ยวและให้เกิดกระแสท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ มั่นใจว่าภายใต้ 8 หน่วยงานจะเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวสีขาว ให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เชื่อว่า โครงการนี้จะเกิดผลดีไม่เฉพาะด้านภูมิอากาศ หรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับการท่องเที่ยวไทย และการลดการปล่อยคาร์บอน ถือว่าสำคัญ แม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์วันนี้ โลกจะยังมีอุณภูมิสูงอยู่ แต่การปรับตัวถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่ออนาคต ไทยตั้งเป้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก10-20 ปีข้าง ต้องทำในเรื่องลดคาร์บอน การทำเช่นนี้ไม่เพียงทำตามกติกาของโลก ยังทำให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านท่องเที่ยวระดับโลกได้ และเป็นการทำให้ชุมชนท้องถิ่น มีแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วย
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า แนวคิดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เป็นการพลักดันให้เกิดการพัฒนารักษาสิ่งแวดล้อม และเกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ภายใต้การทำบันทึกฉบับนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืนต่อไป .-สำนักข่าวไทย