กทม.-9 ก.ย.- อธิบดี พช. เยี่ยมชมต้นแบบความสำเร็จการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ด้วยพลัง “บวร” เพื่อพลิกฟื้นความยั่งยืนสู่ชุมชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสหชัย แจ่มประสิทธิ์กุล นายอำเภอศรีเทพ นางธนพร ศรีบุญเรือง พัฒนาการอำเภอศรีเทพ เข้ากราบนมัสการพระภาวนามังคลาจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ และลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ณ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life :CLM) ระดับตำบล ขนาด 15 ไร่ ณ บริเวณวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งรับชมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี อำเภอเมือง อำเภอหล่มเก่า อำเภอน้ำหนาว อำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting และในภาคบ่ายได้เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก นิทรรศการของดีเพชรบูรณ์ รับชมการนำเสนอวิดิทัศน์ เรื่อง “เสียงกู่จากครูเก่ง” และพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับดีเลิศ ตามโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ 2564 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุมอาคารธรรมสภา วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” เป็นโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ตามพระราโชบาย “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โดยยึดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคำขวัญพระราชทาน “พัฒนาคือสร้างสรรค์” มาส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติจนเป็นวิถี เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มคนยากจน เป็นหนทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการน้อมนำแนวทางหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา นั้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ในหลาย ๆ มิติทั้งความเป็นอยู่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สร้างโอกาสในการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพสู่การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อชุมชนต่อไปในอนาคต
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง “งานเสร็จ เป็นรูปธรรม นามธรรมอิ่มเอิบ สบายใจ” โคกหนองนากับความสุขสดใส “We are farmers together” และ เรารักธรรมชาติ เราสร้างสรรค์ในงานเกษตร โคกหนองนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และความสดใสทั้งกายและใจ “Happy Farmers” เป็นกำลังใจให้พสกนิกรชาวไทย ได้มีพลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าทุกคนเรียนรู้และทำความเข้าใจ จะพบว่าภาพฝีพระหัตถ์ได้แฝงไปด้วยองค์ความรู้มากมาย ดังเช่น หลักการทำงานควรทำเป็นขั้นตอน ซึ่งถ้าเราจะต้องมีการขุดแปลงโคกหนองนาอีกในภายภาคหน้า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องหน้าดิน ที่ดินที่เป็นนาก็ให้เอาหน้าดินมาอยู่ด้านบน รวมทั้งการรวมทั้งการขุดหนอง คลองไส้ไก่ก็เช่นกัน เพราะหน้าดินนั้นมีจุลินทรีย์ ธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชผลที่ปลูกนั้นได้รับสารอาหาร ทำให้มีความเจริญงอกงาม ก่อให้เกิดความสุขภายในครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความสุข มีความอบอุ่น มีความรักความสามัคคีกันก็จะส่งผลให้ชุมชนและประเทศมีความสงบสุข นอกจากการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ก็ขอฝากให้ทางหน่วยงานนำภาพวาดฝีพระหัตถ์ มาเผยแพร่ให้คนที่เข้าร่วมโครงการ และคนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ให้เข้าใจในเรื่องของภาพฝีพระหัตถ์และความหมายของภาพด้วย
นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1,517 แปลง เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล จำนวน 4 แห่ง และระดับครัวเรือน จำนวน 1,513 แห่ง ในการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ต้นแบบของหน่วยดำเนินการทั้ง 11 อำเภอ ได้มีการสร้างคน สร้างเครือข่าย ขยายผล ตามหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) บูรณาการขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการเพชรบูรณ์พอเพียง” โดยการสร้างความมั่นคง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านอาหาร 2) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 3) ความมั่นคงด้านรายได้ 4) ความมั่นคงด้านสุขภาพ 5) ความมั่นคงด้านสังคม มุ่งเป้าหมายให้ประชาชนคนเพชรบูรณ์ “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนดี ชีวีพร้อม น้อมพัฒนา” และสำหรับพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life :CLM) ขนาด 15 ไร่ ณ วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ จะเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ระดับตำบล ตามหลัก “บวร” แห่งแรกของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้มีการขุดปรับรูปแบบแปลงตามแบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน และเตรียมการสร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ 2) ฐานเรียนรู้คนหัวเห็ด 3) ฐานเรียนรู้คนเอาถ่าน 4) ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี 5) ฐานเรียนรู้คนติดดิน 6) ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ 7) ฐานเรียนรู้คนมีไฟ 8) ฐานเรียนรู้คนรักษ์น้ำ 9) ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำ โดยในวันนี้มีการจำลองฐานการเรียนรู้ จำนวน 2 ฐาน เป็นการเอามื้อปฐมฤกษ์ ได้แก่ ฐานเรียนรู้คนติดดิน ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำซึ่งในการดำเนินกิจกรรมได้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน”ของจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาความยากจนทุกช่วงวัย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.-สำนักข่าวไทย