กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – องค์กรเอกชนที่ช่วยเหลือด้านคดีแก่เหยื่อที่ถูกอุ้มซ้อมทรมาน เปิดเผยข้อมูลว่าตลอดระยะเวลา 17 ปี เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานแล้วประมาณ 500 กว่ากรณี ซึ่งมากที่สุดคือที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มักไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้เหยื่อไม่กล้าร้องเรียน ดังนั้น การมีกฎหมายเอาผิดผู้ซ้อมทรมาน จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องปรามเจ้าหน้าที่ที่คิดจะซ้อมทรมาน
นี่คือผู้ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตและทุพพลภาพ ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าช่วยเหลือทางคดี อันเป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวนผู้ถูกซ้อมทรมาน 500 กว่ากรณี ที่มูลนิธิแห่งนี้ให้การช่วยเหลือนับจากปี 47 เป็นต้นมา
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่า เหยื่อซ้อมทรมานที่เข้าช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดียาเสพติด นอกนั้นเป็นคดีอาชญากรรมที่โด่งดัง แรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหา และพลทหารถูกซ้อม
แต่การซ้อมทรมานมักไม่มีพยานหลักฐาน ถ้าไม่รุนแรง เหยื่อมักไม่กล้าร้องเรียน อีกทั้งระยะหลังร่องรอยจากการซ้อมทรมานแทบไม่มีให้เห็น เพราะผู้ซ้อมทรมานมีวิธีไม่ให้เกิดร่องรอย เคยมีผู้เสียหายบอกว่าถูกทรมานโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว 3-4 ใบ แต่ไม่เคยเห็นภาพ เหตุการณ์ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ ซ้อมทรมาน จึงเป็นครั้งแรกที่มีภาพปรากฏให้สังคมได้เห็น
จากประสบการณ์ช่วยเหลือเหยื่อซ้อมทรมาน พบว่ากรณีเหยื่อเสียชีวิต การปกปิดการตาย อาจทำได้ยาก แต่กรณีเหยื่อรอดชีวิตมักถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีอื่นอีก การร้องเรียนยิ่งทำให้ถูกข่มขู่ คุกคาม
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า การมีกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน อุ้มหาย จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยปฏิรูปตำรวจ กระบวนยุติธรรม เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้หลายร่างที่ค้างคาอยู่นานหลายปีแล้ว กำหนดให้การอุ้มหาย ทรมาน เป็นความผิดทางอาญา การสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระ ไม่มีอายุความ และผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดด้วย
ในมุมมองของผู้ที่ต่อต้านการอุ้มซ้อมทรมาน จึงเห็นว่ากฎหมายอุ้มซ้อมทรมานที่สอดคล้องหลักสากล น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้ไม่สามารถยุติการอุ้มซ้อมทรมานได้ แต่อย่างน้อยจะมีกรอบกฎหมายที่เข้มแข็งมากขึ้นว่าหากใครใช้วิธีอุ้มซ้อมทรมาน จากเจ้าหน้าที่จะกลายเป็นอาชญากร และผู้บังคับบัญชาไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบต่อการอุ้มซ้อมทรมานได้เหมือนในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย