สำนักข่าวไทย 17 ส.ค.- ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ เผยเล็งนำเข้าวัคซีนโปรตีนซับยูนิต โควิดรุ่น 2 ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับรัฐเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน และ ATK เพื่อใช้ภาคอุตสาหกรรม หลังประกาศข้อบังคับนำเข้ายา วัคซีน เวชภัณฑ์
รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงการประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ว่า การออกประกาศดังกล่าว เนื่องจาก ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เห็นถึงปัญหาความต้องการวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ ในภาวะวิกฤติ ไม่เพียงกับความต้องการ จึงได้มีความคิดออกข้อบังคับดังกล่าวขึ้นมา เพื่อช่วยเป็นทางเลือกในการจัดหา ผลิต จำหน่าย นำเข้า และขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเบื้องต้นทางธรรมศาสตร์ฯ มีความสนใจนำเข้า วัคซีนที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการนำเข้าของหน่วยงานอื่น ทั้งของรัฐ อภ. และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเป็นวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 เพื่อบูสเตอร์โดสให้ประชาชน ในรูปแบบวัคซีนทางเลือก เบื้องต้นมีความสนใจโปรตีนซับยูนิตของโนวาแวกซ์ รวมถึงวัคซีน m-RNA เจนเนอเรชัน 2 อย่างโมเดอร์นา แต่ทั้งนี้ ทางธรรมศาสตร์ฯ ยังต้องหาผู้ร่วมสนับสนุนด้วย โดยเปิดกว้างทั้งเครือข่าย รร.แพทย์ UHOSNET ราชวิทยาลัย สมาคม รวมถึงกลุ่มเครือข่าย รพ.เอกชน
รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความสนใจเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่าง ATK ที่ต้องการมาช่วยสนับสนุนในภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีราคาถูก เบื้องต้นมีความประสงค์ให้ ATK ถูกอย่างน้อย 45-50 บาท เพื่อใช้ตรวจได้จำนวนหลายครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติของ ATK ไม่ได้ไวเท่า RT-PCR จึงต้องมีราคาถูกเพื่อใช้ตรวจหลายครั้ง ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ คาดว่า การนำเข้า และเริ่มกระบวนการผลิตเองของ อภ. เพียงพอแล้ว พร้อมยืนยันการดำเนินการของ มธ. ไม่ได้ต้องการแสวงหาผลกำไร และมองว่าการออกข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนี้ช่วยอุดช่องโหว่ของภาครัฐ สร้างการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ ในประชาชน แต่หากทุกมหาวิทยาลัยต่างออกประกาศข้อบังคับ ก็จะทำให้สมดุลหรืออำนาจต่อรองในการสั่งซื้อน้อยลง มากกว่าความต้องการจากเครือข่ายแล้วสั่งซื้อ โดยในขณะนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานใดเสนอตัวเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ทันที มีเพียงการเจรจาพูดคุยกัน หากมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนจึงจะมีการตกลงอีกครั้ง เพราะเบื้องต้นมองว่าการนำเข้าได้จริง น่าจะเกิดในปีหน้า.-สำนักข่าวไทย