กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – ผู้ว่าการ ธปท. แนะรัฐกู้อีก 1 ล้านล้านบาท พยุงเศรษฐกิจ แม้ดันหนี้สาธารณะปี 67 แตะ 70% ต่อ GDP
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press “จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤตไทย” ว่า สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท ขณะที่มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็ว และรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 เกิด “หลุมรายได้” มีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เพราะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของไทยคงไม่กลับมาปกติโดยเร็ว รวมถึงการ lockdown รอบนี้ยิ่งซ้ำเติมธุรกิจและครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น
ทั้งนี้ ด้วยเม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง เพื่อช่วยให้รายได้และฐานะทางการเงินของประชาชนและ SMEs กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด และลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งในเบื้องต้น เม็ดเงินจากภาครัฐที่เติมเข้าไปในระบบควรมีอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของ GDP ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะช่วยให้ GDP กลับมาโตใกล้ศักยภาพเร็วขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้เร็วกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่ม ดังนั้น หากรัฐบาลไม่เร่งพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตยืดเยื้อ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะเพิ่มขึ้นช้า แต่จากการประมาณการ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงและปรับลดลงได้ไม่มากนักในระยะยาว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หากรัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมอีกราว 1 ล้านล้านบาท คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 แต่จะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) จะต่ำกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่ได้กู้เงินเพิ่มเติมถึงกว่า 5%
ขณะเดียวกัน การกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ที่แม้จะส่งผลให้หนี้สาธารณะขึ้นไปแตะระดับ 70% ของจีดีพี แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอรองรับกับการกู้เงินของภาคการคลัง พร้อมเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะยาว คือ การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งทุก 1% ที่ปรับขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี ธปท.ย้ำว่า ปัจจุบันเสถียรภาพทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง ภาครัฐยังมีศักยภาพในการก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การจะผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต้องช่วยกัน. – สำนักข่าวไทย