ปทุมธานี 18 ก.ค.-นายแพทย์สาธารณสุขปทุมฯ เผยการระบาดโควิดใน จ.ปทุมธานี ส่วนมากติดจากคนในครอบครัว แนะ สปสช. แจก Rapid test ให้กลุ่มเสี่ยงตรวจที่บ้าน พร้อมเตรียมขยายเตียงโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 600 เตียง
นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวถึงสถานการณ์การโรคโควิด-19 และการรับมือว่า ขณะนี้เพิ่งเริ่มการล็อกดาวน์ไปได้ไม่กี่วัน ยอดผู้ติดเชื้อยังคงเป็นผลมาจากช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงต้องรออีกประมาณ 10-15 วันเพื่อดูว่าการล็อกดาวน์จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงหรือไม่แล้วจึงค่อยประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ขณะที่พื้นที่ จ.ปทุมธานี ตอนนี้นอกจากที่ตลาดไทแล้ว ยังไม่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ แต่ที่เจอส่วนมากคือการติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในครอบครัว หากครอบครัวใดที่มีผู้ติดเชื้อก็มีโอกาสสูงที่คนในครอบครัวจะติดเชื้อตามไปด้วย ซึ่งการระบาดในลักษณะนี้ทำให้การตรวจเชิงรุกทำได้ลำบากเพราะลักษณะครอบครัวก็จะมีบ้านเรือนกระจายอยู่ทั่วไป
นพ.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยนั้น ในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการก็จะให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยมีแพทย์ติดตามอาการผ่านระบบ telemedicine และจะให้ยาฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ช่วงแรกของการรักษาเลย โดยขณะนี้มีผู้ที่เข้าระบบ Home Isolation ประมาณ 600-700 ราย ในทุกอำเภอ ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้ง Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโดยชุมชนในพื้นที่ 2-3 อำเภอ และจะขยายให้ครบทุกอำเภอตามนโยบายคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ซึ่งผู้ที่จะรักษาตัวแบบ Community Isolation นี้จะต้องยืนยันผลการตรวจด้วยการตรวจแบบ RT-PCR อีกครั้งก่อน
ขณะที่เตียงผู้ป่วยนั้น ในส่วนของโรงพยาบาลสนามได้จัดตั้งที่โรงยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา ทั้ง 2 แห่งนี้มีเตียงรวมกัน 350-400 เตียง ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี 400 เตียง ที่ตลาดไทย 700 เตียง และมีโครงการจะเปิดเพิ่มที่เทศบาลเมืองท่าโขลง 250 เตียง เทศบาลเมืองคลองหลวง 200 เตียง และที่เทศบาลเมืองลาดสวายอีก 150 เตียง ซึ่งจะใช้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเข้ม/สีเหลืองอ่อน ที่ต้องเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนในโรงพยาบาลชุมชนจะรับผู้ป่วยสีเหลืองเข้มที่ต้องให้ออกซิเจน รวมทั้งผู้ป่วยสีแดงอ่อนก็รักษาได้เช่นกัน แต่ผู้ป่วยสีแดงเข้มจะดูแลที่โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งรองรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจได้ 15-20 เตียง นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่สามารถรองรับผู้ที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจอีกประมาณ 40 เตียง
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบในขณะนี้คือเตียงในโรงพยาบาลมีไม่พอกับความต้องการ ทำให้ต้องให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน แต่พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่ต้องการนอนในโรงพยาบาลและบางครั้งก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกับความรุนแรงของอาการ กลายเป็นว่าพื้นที่สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองมีผู้ป่วยสีเขียวเข้ามาค่อนข้างเยอะ ทำให้บริหารเตียงค่อนข้างลำบาก
“เรามีข้อแนะนำว่าผู้ที่อาศัยในบ้านที่มีผู้ติดเชื้อก็ให้เฝ้าระวังกักตัวดูอาการไปเลยเพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูง การออกมารับการตรวจควรให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางก่อน ส่วนคนที่ไม่มีอาการอะไรเลยก็ให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วันซึ่งจะช่วยลดการกระจายเชื้อลง ผมอยากให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit แจกคลินิกปฐมภูมิ ให้ทางคลินิกเขาเอาไปแจกให้ตรวจที่บ้านเลยจะดีกว่า คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็จะได้ไม่ต้องออกมา เราก็จะได้เฝ้าสังเกตอาการระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้าน” นพ.สุรินทร์ กล่าว
นพ.สุรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรืออาการเล็กน้อย เข้าใจว่าบางคนก็เกิดความกังวลและอยากนอนโรงพยาบาล แต่ขณะนี้เตียงเต็ม ต้องใช้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองจริงๆ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกันว่าอาการแบบไหนที่อยู่บ้านได้ อาการแบบไหนเกณฑ์แบบไหนควรนอนโรงพยาบาล ต้องประเมินโดยทีมแพทย์และถ้ามีอาการใดๆ อยากให้โทรมาปรึกษาเพื่อให้ทีมแพทย์ประเมินอาการก่อน.-สำนักข่าวไทย