ก.ยุติธรรม 8 ก.ค.-ยธ.ร่วมกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนจำเป็นของรถยนต์ไฟฟ้า นำร่องรับผู้พ้นโทษ-พักโทษ 1,000 คน เข้าทำงาน ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ไม่หวนกลับไปทำความผิด ลดแออัดในเรือนจำ และทำมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล พบยังมีอีกหลายบริษัทติดต่อเข้ามา เพื่อจ้างงานระยะยาว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงความร่วมมือกับภาคเอกชนรับแรงงานที่อยู่ในการคุมความประพฤติ เข้าทำงานที่บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000 คน โดยบริษัท เดลต้าฯ เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนจำเป็นของรถยนต์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งของโลก มีบริษัทรถยนต์ดังหลายแห่งเป็นคู่ค้า เช่น
เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และ เจเนอรัล มอเตอร์ โดยการใช้แรงงานของผู้พ้นโทษและพักโทษที่ติดกำไล EM ซึ่งพ้นโทษแล้ว ไม่ใช่ผู้ต้องขัง โครงการนี้จะไม่รวมกลุ่มนักโทษ 7 ประเภทร้ายแรงที่อยู่ Watch List ซึ่งบริษัทฯ จะจัดที่พักให้แรงงานเหล่านี้ รวมทั้งการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งทางบริษัท เดลต้าฯ พร้อมที่จะดำเนินการ แต่ในช่วงนี้เป็นวิกฤติโควิด-19 ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อน
เบื้องต้นจะรับช่วงแรก 1,000 คน นำร่องและจะทยอยรับเพิ่มเติมอีกหลังการขยายพื้นที่ โครงการนี้ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พ้นโทษไม่หวนกลับไปทำความผิด ลดความแออัดในเรือนจำ และทำมาตรฐานให้เทียบเท่ากับสากลต่อไป โดยยังมีอีกหลายบริษัทที่ติดต่อเข้ามา เพื่อจ้างงานระยะยาว โดยค่าแรงจะเป็นไปตามกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถ หากใครมีความสามารถสูง ค่าแรงก็จะมากตามไปด้วย ผู้ต้องขังทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกวิชาชีพและเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่ทางกรมราชทัณฑ์ได้บรรจุหลักสูตรไว้ โดยเลือกในสิ่งที่เราชอบ ฝึกฝนให้ชำนาญ เพื่อที่พ้นโทษออกมาแล้วจะได้มีงานทำเลี้ยงชีพและมีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวด้วย
ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติจะมีศูนย์ EM เพื่อติดตามผู้พักโทษที่ไปทำงาน รวมถึงมีอาสาสมัครคุมประพฤติคอยช่วยดูแลอีกทาง และทางกรมคุมประพฤติจะร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการคัดกรองผู้พักโทษที่สมัครเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น โดยจะดูประวัติและความประพฤติด้วย จากนั้นจะประสานกับฝ่ายทรัพยากรบริษัทในการรับเข้าทำงาน.-สำนักข่าวไทย