เชียงใหม่ 7 ก.ค. – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เผยแพร่ภาพ “กวางผา” หรือ “ม้าเทวดา” ออกมาเดินเล่นหากินตามพื้นที่ลาดชัน กวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวนที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การได้พบเห็นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงถึงความพยายามฟื้นฟูจำนวนประชากรกวางผามีความก้าวหน้าขึ้น
นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บันทึกภาพกวางผาที่ออกมาหากินในทุ่งหญ้าตามพื้นที่ลาดชัน ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่พบเห็นกวางผา ขณะที่ลาดตระเวนในป่า แต่ไม่บ่อยนักที่จะออกมาให้เห็นบริเวณใกล้ถนน ในระยะนี้พบบ่อยครั้งขึ้น เป็นเพราะเป็นช่วยปิดการท่องเที่ยว อีกทั้งที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีโครงการติดตามกวางผา เพื่อศึกษาวิจัยสถานะความเป็นอยู่และนำไปสู่แผนงานอนุรักษ์เผ่าพันธุ์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตและโครงการปล่อยกวางผาที่เติบโตขึ้นจากการเพาะเลี้ยง คืนสู่ป่าธรรมชาติ เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุว่า ในอดีตประเทศไทยมีกวางผากระจายอยู่บริเวณเทือกเขาถนนธงชัย ตั้งแต่เขต อ.อุ้มผาง จ.ตากขึ้นมา ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตี่น ป่าสาละวิน ดอยเชียงดาว ลุ่มน้ำปาย อุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยคนมองว่า กวางผาเป็นสัตว์ที่มีความลึกลับ อันมีที่มาจากความเชื่อแต่เก่าก่อนของชาวมูเซอที่อาศัยอยู่เชิงดอยม่อนจองมีความเชื่อว่า “ดอยม่อนจอง” เป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ และ “กวางผาก็เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของเทวดา” ถึงขั้นว่า หากใครล่ากวางผาผู้นั้นจะถูกธรรมชาติลงโทษให้พบจุดจบ
มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าวว่า อาจเพราะชาวมูเซอเห็นกวางผาปีนหน้าผาสูงชันเกือบตั้งฉากได้อย่างรวดเร็วแบบที่คนหรือสัตว์อื่น ๆ ทำไม่ได้ บางทีกวางผาโจนตัวเผ่นหายไปจากสายตา ราวกับมีอิทธิปาฏิหาริย์ ชาวมูเซอจึงเรียกขานกวางผาว่า “ม้าเทวดา” ประกอบกับในอดีตความรู้เรื่องกวางผาค่อนข้างมีน้อย เนื่องจากกวางผาจะอาศัยอยู่ตามผาชัน เดินในทางรกชัฏ ซึ่งเหมาะกับใช้หลบอันตรายจากสัตว์ผู้ล่า ทำให้ติดตามได้ยาก ขณะเดียวกัน สีสันของขนสีน้ำตาลอมเทาก็ทำให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ยิ่งบวกเข้ากับนิสัยที่ชอบยืนนิ่งเป็นเวลานาน ๆ ก็ยิ่งทำให้พบเห็นตัวได้ไม่ง่ายนัก
สาเหตุที่ทำให้กวางผาลดจำนวนลงเพราะประสบภัยคุกคามจากการล่าของมนุษย์ การบุกรุกถางป่า ไฟป่า ปัจจุบันพบเจออยู่ในพื้นที่คุ้มครองเพียงไม่กี่แห่งเช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยอินทนนท์ เป็นต้น ทั้งนี้ในช่วงปี 2560 ได้มีการสำรวจประชากรกวางผาในถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งพบเพียงพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือของประเทศเท่านั้น และพบว่า กวางผา ในป่าธรรมชาติมีเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าตัว กระจายตัวอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 11 แห่ง ของ 3 กลุ่มป่าสำคัญคือ กลุ่มป่าปาย-สาละวิน กลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย และกลุ่มป่าศรีลานนา-ขุนตาล โดยพบการกระจายตัวมากที่สุดใน “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว”
ข้อห่วงใยของกรมอุทยานแห่งชาติเกี่ยวกับปัจจัยคุกคามกวางผาที่สำคัญคือ ความเสื่อมถอยทางพันธุกรรมเนื่องจากจำนวนน้อยลง จึงผสมกันแบบเลือดชิด วนเวียนอยู่ในกลุ่มเดิม ทำให้สำรวจพบบางตัวมีลักษณะเขาที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเช่น มีลักษณะบิดเบี้ยวผิดรูปต่างไปจากปกติ อันเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของกวางผาในอนาคต
การฟื้นฟูจำนวนประชากรและสายพันธุ์ยังต้องทำควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่แหล่งอาหาร จึงจำเป็นต้องมีห้วงปิดแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อให้ระบบนิเวศได้มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ดังเช่นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ปิดประจำปีระหว่าง 1 พ.ค. – 31 ก.ค. โดยจะเปิดให้บริการท่องเที่ยววันที่ 1 ส.ค. นี้. – สำนักข่าวไทย