ทำเนียบฯ 3 ก.ค.- อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้สถานการณ์โควิด-19 เดือน ก.ค.ระบาดหนัก อาจต้องใส่แมสก์ในบ้าน วอนยึด 5 มาตรการผ่านวิกฤตินี้ ห่วงเตียงผู้ป่วยไม่พอ เร่งสร้างไอซียูเพิ่ม ระดมแพทย์จบใหม่ ยอมรับบุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้า ขอรัฐบาลเอาความจริงมาพูด
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวถึงประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนทางเลือก การจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. โดยมี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ประกอบกับการแพร่ระบาดระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และพบกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์อังกฤษ อีกทั้งตอนนี้พบการแพร่ระบาดในกลุ่มโรงงาน สถานประกอบการ แคมป์คนงาน และล่าสุดกลับมาในระบาดในชุมชนและครอบครัว อีกทั้งเริ่มพบประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาจากพื้นที่สีแดงเข้มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่พยายามดำเนินการจำกัดวง เพื่อให้ผู้เดินทางกลับไปได้รับการรักษาโดยเร็ว และไม่ไปแพร่เชื้อต่อ ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วง และต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งในช่วง 2 เดือนข้างหน้า แต่เชื่อว่าด้วยความตื่นตัวของประชาชนและหน่วยงาน น่าจะคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ และคงไม่ให้ตัวเลขสูงมากนัก พร้อมต้องจับตาคนที่มีโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ ยอมรับสถานการณ์น่าเป็นห่วง ระบุมาตรการขณะนี้ คือ ลดการเคลื่อนย้าย ลดการเดินทาง ลดการรวมกลุ่ม ไม่นั่งกินอาหารในร้าน และป้องกันการติดเชื้อในครอบครัว ดังนั้นต้องป้องกันเรื่องการติดเชื้อในครอบครัว สวมหน้ากากอนามัย และเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนมากและเตียงผู้ป่วยเริ่มไม่เพียงพอ ว่า ทั่วประเทศสถานการณ์ยังพอรับได้ ในภาครัฐมี 7 หมื่นเตียง ทั่วประเทศ และมีการเสริมในเฉพาะพื้นที่ อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขยายเตียง 200-300% และพื้นที่ภาคใต้ที่พบการแพร่ระบาดก็ได้เตรียมเตียงเพิ่ม และหากไม่จำเป็นจะไม่ใช้มาตรการ Home Isolation และ Community Isolation แต่ตอนนี้บางพื้นที่ คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจังหวัด ที่สถานการณ์ค่อนข้างหนัก ขณะนี้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการเตรียมไอซียู ระดมแพทย์จบใหม่และทีมพยาบาลไอซียูต่างจังหวัดเข้ามาช่วย ซึ่งจากข้อมูลของ 1668 และ 1669 ยังพบว่ามีผู้ป่วยรอเตียงขณะนี้อยู่กว่าหลัก 1,000 คน ทั้งนี้ แนวคิด Home Isolation สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กักตัวที่บ้านระหว่างรอแอดมิต ที่โรงพยาบาลจะมีวิธีการวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด และส่งอาหารให้ 3 มื้อ เพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งวิธีการทำ Home Isolation ว่า ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง จึงต้องมีการติดตามอาการและวิธีนี้ใช้ได้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถแยกห้องได้คนเดียว จึงได้คิดเรื่องของ Community Isolation หรือบ้านพักคอย
นพ.สมศักดิ์ ยังยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้ค่อนข้างตึง ผู้ป่วยบางรายประสบอุบัติเหตุเข้าห้องไอซียู แต่เมื่อตรวจคัดกรอง พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงมีแนวคิดจะต้องแยกห้องไอซียูออกมาด้านนอก พร้อมย้ำว่าเรื่องเตียงเป็นปัจจัยเดียวของการรักษา แต่ปัจจัยการทำงาน 5 เรื่อง คือ นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล มาตรการที่เข้มข้น ประชาชนต้องร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องดี ระบบรักษาพยายาลต้องเข้มข้น และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ถ้า 5 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ดี การลดจำนวนผู้ป่วยลงไป การขยายเตียงการหาอุปกรณ์จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่บุคลากรที่อยู่หน้างาน ตอนนี้ตึงมากแล้วจริงๆ ขอความเห็นใจ และร่วมกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งตอนนี้เป็นที่น่าหนักใจ เพราะหมอและพยาบาลเริ่มอ่อนล้า ย้ำว่าทุกมาตรการต้องเริ่มกลับไปทบทวนตัวเอง รัฐบาล ว่าเข้มข้นพอหรือไม่ ประชาชนดูแลตัวเองดีพอหรือยัง เพราะตอนนี้การระบาดลงไปสู่ชุมชนและครอบครัว อาจจะถึงเวลาจริงๆ ที่ต้องใส่หน้ากากเวลาอยู่ในบ้าน และการเฝ้าระวังป้องกันโรคทำได้ดีพอหรือยัง การรักษาพยาบาลยอมรับค่อนข้างหนักใจ เพราะหมอและพยายาลเริ่มล้าหลายส่วนแล้ว แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็น่าจะไปได้ ส่วนวัคซีนต้องทบทวนนโยบายให้ชัดเจน ตอนนี้ไม่สามารถจะฉีดเข็มแรกให้กับคนทั้งประเทศได้ ก็ต้องมาทบทวน ป้องกันอาการหนัก กับกันตายก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ทุกคนแตกต่างได้ แต่ขอให้มาคุยกัน และใช้หลักการเอาความจริงมาพูด เอาความโปร่งใสเป็นหลัก เมื่อได้ข้อสรุป ขอให้เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่โทษกัน รัฐบาลต้องฟังประชาชน ประชาชนต้องร่วมมือกับรัฐบาล และเราจะเดินหน้าไปได้ พร้อมขอฝาก 3 ส.ในการเตือนตัวเอง คือ ตั้งสติเดือนนี้หนักแน่ สื่อสารด้วยความจริง สามัคคีเดินหน้าไปด้วยกัน
ส่วนกรณีที่หลายโรงพยาบาลไม่รับตรวจโควิด-19 พร้อมเตียงไม่พอ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่แรกไม่ได้บอกว่าที่ไหนตรวจแล้วต้องรับผู้ป่วย เพียงแต่ให้ช่วยประสาน และตอนนี้ เมื่อมีมาตรการ Home Isolation และ Community Isolation ก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์เรื่องเตียงไม่พอได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งขณะนี้ทดลองใช้ที่โรงพยาบาลราชวิถีมาเกือบ 2 เดือนแล้ว .-สำนักข่าวไทย