กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโควิดระลอก 3 ชัดขึ้น มีการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐช่วยพยุง รับกังวลยืดเยื้อ กระทบแรงงานสูญเสียทักษะ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคมได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน ในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่
ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 นั้น ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ธปท. ยอมรับว่า กังวลสถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน มีอัตราการว่างงานนานกว่าที่คาด และอาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานานอาจจะสูญเสียทักษะไป เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นก็ต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว. – สำนักข่าวไทย