ทำเนียบฯ 25 มิ.ย.-นายกฯ ไม่ล็อกดาวน์ สั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน ควบคุมเฉพาะพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่ม 28 มิ.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. แถลงภายหลังเรียกนายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, คณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยา ประธานคณะที่ปรึกษาฯ นพ.อุดม คชินทร รองประธาน นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรง เข้าร่วม เพื่อหารือการจัดสรรควัคซีน และแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด 19
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชุมมีความเป็นห่วงเรื่องคลัสเตอร์แคมป์คนงาน จึงได้สั่งปิดแคมป์เพื่อลดการแพร่ระบายเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยกระทรวงแรงงานจะดูเรื่องการชดเชย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยจะควบคุมเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นรา และสงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด พร้อมจะมีมาตรการควบคุมออกมามากขึ้นให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เช่น การตั้งด่านตรวจโควิด มาตรการ บับเบิ้ล แอนด์ซีล และขอความร่วมมือเรื่องการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีมาตรการในการดูแลคนเข้า-ออกพื้นที่อยู่แล้ว โดยทั้งหมดจะมีรายละเอียดภายในสัปดาห์นี้ และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
“ในส่วนของแรงงาน มอบให้กระทรวงแรงงานดูแล จ่ายเงินค่าชดเชยทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว และใน 1 เดือนนี้ขอให้แรงงานอดทน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมได้ทำ บับเบิลแอนด์ซีล อยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ขอไม่ให้ใช้คำว่าล็อกดาวน์ เพราะจะน่ากลัวเกินไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้อยู่แต่ในบ้าน ยังออกมาทำงานได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดและลดเวลาในบางเรื่อง ยืนยันไม่มีประกาศเคอร์ฟิว และไม่ถึงขั้นต้องปูพรมตรวจหาผุ้ติดเชื้อใน กทม.แต่จะใช้วิธีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้มากที่สุด เพื่อลดการติดเชื้อ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ตรงกับกลุ่มเป้า โดย 2 เดือนนับจากนี้ คือ เดือน ก.ค.-ส.ค. จะเร่งฉีดวัคซีนให้กับ ผู้สุงอายุ และ 7 กลุ่มโรคความเสี่ยงให้หมด เพราะคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จากนั้นจะทยอยฉีดให้กลับกลุ่มอื่นๆต่อไป
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญกาเรื่องเตียงผู้ป่วยหนักว่า ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและ กทม. จัดหาเตรียงเพิ่ม 100 เตียง เพื่อจัดทำเป็นห้องไอซียู โดยกระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดทำงบประมาณเพื่อเชื่อมโยงระบบให้โรงพยาบาล ส่วนปัญหาขาดแคลนเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ทางแพทยสภาและราชวิทยาลัยฯ นำ นศ.แพทย์ที่จบใหม่เข้ามาช่วยเสริมในการดูแลผู้ป่วย
“รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่องเข้ามาหากขาดแคลน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เราให้เกียรติหมอ ให้เกียรติกระทรวงสาธารณสุข ถึงแม้จะมีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจก็ตาม แต่สาธารณสุขต้องมีบทบาทนำในช่วงนี้ และต้องดูว่าจะทำอย่างไรที่ให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปด้วย ด้วยความปลอดภัย จะเน้นฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ลำบากต้องหาวิธีการที่เหมาะสม”นายกรัฐมนตรื กล่าว .-สำนักข่าวไทย