สภาฯ 27 พ.ค. – พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่รายย่อย แต่ ส.ส. ต่างเป็นห่วงผลกระทบในทางปฏิบัติว่าจะไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริงและทั่วถึง
ตลอดช่วงบ่ายวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าโดยหลักการของพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ยืมตามที่กำหนด ในวงเงินไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี และไม่เก็บดอกเบี้ยจากผู้ประกอบธุรกิจในระหว่าง 6 เดือนแรกด้วย
โดยที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรขนาดย่อม มีค้ำประกันสินเชื่อ ที่สถาบันการเงินให้ผู้ประกอบการกู้ยืม แต่รับภาระไม่เกิน 40% ของวงเงินสินเชื่อ นอกจากนี้ยังรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือพักทรัพย์ พักหนี้
ขณะที่ ส.ส. ยังมีความเป็นห่วงในทางปฏิบัติ กังวลว่าธนาคารพาณิชย์จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าในตลาด โรงงานหรือโรงแรมขนาดเล็ก จึงแนะนำให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้ พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยการช่วยเหลือของรัฐบาลด้วยการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ยังไม่เพียงพอ และการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ยังไม่เข้าถึงภาคธุรกิจอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่ต้องการคือ การช่วยพยุงด้วยกระแสเงินสด โดยได้เปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐ กลับไปที่มีเงินเยียวยาช่วยทันที แต่ของรัฐบาลไทยกลับไม่ดำเนินการตรงนี้อย่างจริงจัง.-สำนักข่าวไทย