สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 27 พ.ค.- มติที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ เลือก “พล.อ.วิทวัส” ดำรงตำแหน่งรองประธานผู้ตรวจการแผ่นดินโลก พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนกลุ่มเปราะบางจากเชื้อโควิด-19
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และรองประธานผู้ตรวจการแผ่นดินโลก รวมประชุมว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12 (12th IOI World Conference & General Assembly) ภายใต้หัวข้อหลัก “Giving Voice for the Voiceless – การให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส” พร้อมเน้นย้ำบทบาทและอำนาจขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินระดับสากล ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การบริหารราชการแผ่นดินที่ดี และหลักนิติธรรม
พล.อ.วิทวัส เปิดเผยว่า เดิมทีการจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นในต้นปี 2563 ที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งจะมีผู้ตรวจการแผ่นดิน 200 องค์กรทั่วโลกเข้าร่วมประชุม แต่การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาประชุมผ่านระบบซูม ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคมนี้ หนึ่งในวาระสำคัญ คือ การรับรองผลการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่วาระปี ค.ศ. 2020 – 2024 ซึ่งในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินไทยก็ได้รับความไว้วางใจ และเชื่อถือจากสมาชิกทั่วโลกลงคะแนนเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธาน คนที่ 1 ของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยและคนเอเชีย เพื่อแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกและกรรมการสถาบันระดับภูมิภาคเอเชีย ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ ปี 2021 – 2024 เป้าหมายที่สำคัญได้แก่ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรแบบทวิภาคและพหุภาคีมากขึ้น สนับสนุนผู้ตรวจการแผ่นดินให้รอดพ้นจากภัยคุกคาม การปรับรูปแบบการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบใหม่ หรือ New Normal โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการสื่อสารกับสาธารณะ ย้ำความสำคัญ บทบาทและอำนาจในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน การบริหารราชการแผ่นดินที่ดี และหลักนิติธรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล
พล.อ.วิทวัส ยังกล่าวว่าในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ว่าด้วยหัวข้อหลัก การให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินไทย ได้เสนอเรื่อง การแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 การพัฒนาชีวิตและการคืนสถานะสัญชาติไทยให้แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขกรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากผู้ที่ได้รับบำนาญพิเศษ ซึ่งการเสวนาเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ตอบสนองกับสถานการณ์โลก โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างมากมาย ทั้งคนที่สามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐ และคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นความท้าทายขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกที่จะยืนหยัดทำงานด้วยความอิสระ เป็นกลาง เป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย