กรุงเทพฯ 26 ม.ค. – “ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์พายุ “ยาอาส” ลุยปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด ด้าน “อธิรัฐ” มอบกรมเจ้าท่าตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชม. “ทางหลวงฯ-ทช.” รับลูก สั่งการหน่วยงานทั่วประเทศจัดเจ้าหน้าที่-อุปกรณ์รับมือแล้ว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนภัย เรื่อง พายุไซโคลน “ยาอาส” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ทำให้ในช่วงวันที่ 25-27 พ.ค.64 มีมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้ประเทศไทย อ่าวไทย และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ วานนี้ (25 พ.ค.64) ตนจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมและใช้การปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้รายงานการดำเนินการมายังกระทรวงฯ ทันที เมื่อเกิดสถานการณ์
ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตนได้สั่งการด่วนที่สุดให้กรมเจ้าท่า (จท.) โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3, 5 และ 6 ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมเจ้าท่า เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่ที่อาจได้รับอิทธิพลจากพายุดังกล่าว โดยให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ รถ เรือ และอุปกรณ์ รวมทั้งให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุประจำ ณ ที่ตั้งสำนักงานตลอดเวลา
นอกจากนี้ ให้กำชับเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์รุนแรงเกินที่จะรับมือได้ ให้เร่งประสานความร่วมมือจากจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที รวมถึงให้หน่วยงานในพื้นที่ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชน ผู้ประกอบการเรือ หรือชาวเรือที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทราบถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย
ขณะที่นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า จากข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ตนจึงได้สั่งการให้ทุกแขวงทางหลวง หมวดทางหลวง รวมถึงศูนย์สร้างทาง และศูนย์สร้างและบูรณะสะพานในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงเตรียมสะพานเบลีย์ (สะพานเหล็ก) กรณีหากเกิดทางขาด สะพานขาด และจัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชม.
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนผู้ใช้ทาง โปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากประชาชนต้องการสอบถามสภาพเส้นทาง สภาพการจราจร หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชม.)
ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงชนบท แขวงทางหลวงชนบท และหมวดบำรุงทางหลวงชนบทในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันท่วงที โดยแบ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย
1. ก่อนเกิดเหตุ เช่น เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ สะพานเบลีย์ สนับสนุนยานพาหนะ อุปกรณ์การขนส่ง พร้อมสนับสนุนการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัย หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ เตรียมป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง (กำหนดช่องจราจร) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน กรณีมีน้ำท่วมสูง ถนนขาด/สะพานขาด ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และตรวจสอบข้อมูลสายทางที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงกรณีดินถล่มบริเวณไหล่เขาและสายทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยให้หน่วยงานในสังกัด จัดชุดลาดตระเวนสำรวจพื้นที่เสี่ยงและเข้าดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุการณ์
2. ขณะเกิดเหตุ ให้บริหารจัดการเส้นทางและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน กรณีเส้นทางผ่านไม่ได้ให้จัดหาทางเลี่ยง พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานของจังหวัดในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที เมื่อได้รับการร้องขอ อาทิ กรณีถนน/สะพานขาด ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้ชั่วคราว เช่น วางสะพานเบลีย์ ถมดินคอสะพาน เป็นต้น ตลอดจนรายงานข้อมูลสายทางที่ประสบอุทกภัยให้ผู้บริหารได้รับทราบ จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
3. หลังน้ำลด โดยหลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ หากตรวจพบสายทางที่เกิดความเสียหายรุนแรง ให้ดำเนินการซ่อมแซมเบื้องต้น เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้ภายใน 7 วัน และเข้าดำเนินการสำรวจ ออกแบบ ประมาณราคา พร้อมภาพถ่ายสภาพความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทช.ขอความร่วมมือประชาชน โปรดระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ และโปรดสังเกตป้ายจราจรเตือน และ ทช.จะติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือแจ้งเหตุอุทกภัย ได้ที่สายด่วนกรมทางหลวงชนบท 1146. – สำนักข่าวไทยย