กทม. 13 พ.ค. –กมธ.ไอซีที วุฒิสภาฯ แนะ รัฐบาล-ศบค.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่าน SMS ให้ประชาชนที่เข้าถึงออนไลน์ยาก ต้นเหตุ “หมอพร้อม” ยอดคนจองวัคซีนไม่เข้าเป้า
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วนทางออนไลน์ เพื่อถกปัญหาการเข้าถึงการใช้งานผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเสนอให้รัฐบาลและ ศบค.เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านการส่งข้อความ หรือ SMS เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสู่ประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมหารือแนวทางการรับมือปัญหา Fake News ที่สร้างความแตกตื่นจากโควิด-19 ร่วมกับปลัดกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า จากสถานการณ์ของโควิด-19 ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากสะท้อนปัญหาการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ไม่สำเร็จที่เกิดจากระบบล่ม แต่ประเด็นปัญหาใหญ่กว่านั้น คือประชาชนส่วนมากของประเทศไม่สามารถลงทะเบียนเข้ารับวัคซีนได้ด้วยตัวเอง
“ทุกวันนี้นอกจากปัญหาเรื่องการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว ความไม่เสถียรในการใช้งานของแอปพลิเคชันในการลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน ก็เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับประชาชน ทาง กมธ.ไอซีที มองว่ามีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที จึงอยากให้รัฐบาลและ ศบค.เพิ่มช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน แบบเรียลไทม์ ด้วยการส่งข้อความ SMS ไปยังประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่านั้น เช่น ลำปางโมเดล ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการทำงานของ อสม. นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ที่สร้างความแตกตื่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของโควิด-19 อีกด้วย”พลเอกอนันตพร กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหา Fake News ที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยทาง กมธ. ไอซีที ได้เชิญ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมให้ข้อมูล โดยระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนที่ออกมาสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้คำสั่งศาล แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดนี้ การดำเนินการเพื่อยื่นต่อศาล เพื่อให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์หรือต้นทางการเผยแพร่ข่าวสารทางโซเชียลฯ ยังมีอุปสรรคในเรื่องของศาลที่ไม่เปิดรับคำร้องและระงับการไต่สวนชั่วคราว ทำให้สามารถทำได้เพียงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย