กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – อย. ร่วมกับ ปคบ. ปูพรมกวาดล้างผู้ลักลอบจำหน่ายขนมเยลลี่ลูกตา ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่มีฉลากภาษาไทย ย่านตลาดสำเพ็ง มูลค่ากว่า 300,000 บาท เตือนผู้ปกครองระมัดระวังอย่าให้บุตรหลานซื้อขนมเยลลี่ดังกล่าวมารับประทาน เนื่องจากยังไม่ผ่านการรับรองจาก อย.
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.สุภัทรา บุญเสริม และ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการปูพรมกวาดล้างขนมเยลลี่ลูกตา ย่านตลาดสำเพ็ง จากข่าวที่มีเด็กรับประทานขนมเยลลี่ลูกตา แล้วเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ต้องหามส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเป็นลำไส้อักเสบ อย.จึงได้ประสาน บก.ปคบ. ลงพื้นที่สืบสวนเรื่องดังกล่าว ซึ่งหลังตรวจค้นร้านค้าที่จำหน่ายขนมเยลลี่ลูกตา ย่านตลาดสำเพ็ง จำนวน 5 ร้าน พบขนมเยลลี่ลูกตา ไม่มีเลขสารบบอาหาร ไม่มีฉลากภาษาไทย จำนวนหลายรายการ จึงตรวจยึดเป็นของกลาง เป็นเยลลี่ลูกตา จำนวน 22,000 ชิ้น และลูกอมลูกตา จำนวน 11,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 300,000 บาท
จากปฏิบัติการปูพรมตรวจสอบในครั้งนี้ เบื้องต้นพบประเด็นความผิดในเรื่องการจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และของกลางที่ตรวจยึดได้ อย.จะดำเนินการส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อทดสอบคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบโลหะหนัก สีผสมอาหาร หรือวัตถุกันเสีย จะเป็นความผิดฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนผู้ที่ลักลอบนำเข้าอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ขอเตือนไปยังผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มารับประทาน ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทยและเลข อย. มีผู้ผลิตที่ชัดเจน ไม่ควรซื้อสินค้าลักลอบนำเข้าที่รูปลักษณ์และสีดึงดูดความสนใจกับเด็ก และควรคำนึงถึงลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้ม เพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าได้ จากนี้จะขยายผลหาแหล่งลักลอบนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารไม่ถูกกฎหมาย หากตรวจสอบพบผู้นำเข้ารายใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และขอเตือนร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารให้ระมัดระวังในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาวางจำหน่าย
หากประชาชนพบเห็นการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ผิดกฎหมาย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135, สายด่วน อย. 1556 หรือที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทุกวันในเวลาราชการ. – สำนักข่าวไทย