2 พ.ค. – เคลียร์ปมดราม่า “อนุทิน” ตอบชัด หนุนเต็มที่ให้เอกชนช่วยหาวัคซีนโควิด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นดราม่าในโลกโซเชียล ซึ่งระบุว่านายอนุทิน มีส่วนขัดขวางไม่ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน โควิด-19
จากที่มีข่าวว่าตนเข้าพบนายกฯ และแสดงความเห็นในเชิงไม่สนับสนุนให้ภาคเอกชน จัดหาวัดซีน เพราะถ้าเอกชนทำสำเร็จจะทำให้รัฐบาลสูญเสียคะแนนนิยม ซึ่งนายกฯ เชื่อตนจนกลายมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียล
ขอย้ำว่าเรื่องนี้ “ไม่เป็นความจริง” ตนไม่เคยพูด หน้าที่ของตนคือจัดหาวัคซีนให้คนไทย รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่คนไทย แต่ทำมาหากินภายในประเทศ ส่วนเอกชนที่เข้ามาจัดหา ตนยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องวัคซีน เหลือย่อมดีกว่าขาด
เคยอยู่ภาคเอกชนมาก่อน เข้าใจความรู้สึกของภาคเอกชน เข้าใจว่าเอกชนมีความคล่องตัวและต้องการเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายรัฐรับฟังทุกข้อเสนอของเอกชน เอกชนรายไหนหาวัคซีนมาลงทะเบียนได้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็พร้อมตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนให้ทันที
“ปัญหาทั้งหมดมันเกิดมาจากเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่ารัฐบาลปฏิเสธเอชนที่ต้องการช่วยเหลือเรื่องการนำเข้าวัคซีน โดยเอกสารอ้างว่า เพราะรัฐบาลมีศักยภาพและความสามารถในการหาวัคซีนได้เพียงพอตามความเป้าแล้ว ซึ่งความเป็นจริงรัฐไม่เคยห้ามเอกชนเลย”
ย้อนกลับไปในวันที่ 28 เมษายน ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับภาคเอกชน ทั้งหอการค้า การธนาคาร และอุตสาหกรรม ได้ข้อสรุปว่า เปิดทางให้ภาคเอกชนจัดหาวัคซีนได้อย่างเต็มที่ รัฐไม่ปิดกั้น
แต่หากทำตรงส่วนนั้นไม่ได้ หาเข้ามาไม่ได้ ซึ่งรัฐเปิดทางให้เจรจาแล้ว ขอให้เอกชนสนับสนุนในเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ใช้สถานที่รวมไปถึงการนำพนักงานมารับบริการวัคซีน
วันนั้น ทางนายกฯ หันมาถามตนว่า หากภาคเอกชนสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้แล้ว ทางหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ก็ตอบไปว่าพร้อมอำนวยความสะดวกอย่างแน่นอน
เรื่องราวทั้งหมดมีเท่านี้ จากนั้นหลังจากเอกสารฉบับแรกออกมาแล้วและมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม จึงมีการออกเอกสารอีกฉบับหนึ่งมาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ก็ดูจะสายเกินไป เพราะว่าเอกสารฉบับแรกได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม เหมือนกับที่ตนจะต้องออกมาอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงในวันนี้ กับข่าวที่บอกว่าตนปฏิเสธการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดหาวัคซีน ซึ่งไม่เป็นความจริง
นายอนุทินกล่าวด้วยว่า เหตุผลที่เอกชนยังไม่สามารถนำวัคซีนเข้ามาได้นั้น เนื่องจากทางผู้ผลิตวัคซีนยังระบุว่าการใช้วัคซีนเป็นไปภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและจะไม่รับผิดชอบหากเกิดผลกระทบใดๆ ตามมา ทางผู้ผลิตเห็นว่ามีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่สามารถเข้าไปรับผิดชอบตรงส่วนนี้แทนเอกชนได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตกำหนดให้เพียงรัฐบาลของแต่ละประเทศได้สิทธิ์ในการจัดหาวัคซีน
สำหรับประเทศไทย กฎหมายของ สปสช. ระบุว่า หากใครก็ตามที่ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขจากทางภาครัฐ แล้วเกิดความเสียหาย ทางภาครัฐจะเข้าไปเยียวยาตามกฎหมายกำหนด
ในส่วนของความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนล่าสุดนั้นทางแอสตราเซเนกา ยืนยันว่าภายในเดือนมิถุนายน 2564 จะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ไทยได้ ในขณะที่ทางบริษัทไฟเซอร์ได้ส่งตัวแทนระดับผู้บริหารเข้ามาพูดคุยกับทางการไทยแล้ว
ข้อมูลล่าสุด ไฟเซอร์ระบุว่า วัคซีนสามารถจัดเก็บในอุณหภูมิที่สูงขึ้น และสามารถฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ตอนนี้กำลังหารือในเรื่องของวันจัดส่ง ซึ่งทางไฟเซอร์ย้ำว่าจะหาทางทำให้ได้ตามที่ทางการไทยต้องการการพูดคุยยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่น ที่ไทยยังไม่ล้มเลิกความพยายาม. – สำนักข่าวไทย