ทำเนียบ 29 เม.ย.-นพ.ทวีศิลป์ เผย ศบค. สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับแนวทางลงโทษคนไม่ใส่หน้ากากอนามัยใหม่ เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ระบุ 14 วันนี้หากตัวเลขดี อาจลุ้นผ่อนคลาย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. กล่าวว่าในที่ประชุม ศบค.ได้หารือถึงมาตรการควบคุมและบูรณาการทุกพื้นที่ คือ การสวมกากอนามัยและหน้ากากผ้าที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ปรับ และอ้างว่าต้องให้ศาลเป็นผู้ปรับ นั้น กรมควบคุมโรคได้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อออกระเบียบเปรียบเทียบปรับ โดยมาตรการต่างๆ จะให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย และกทม.ดำเนินการออกระเบียบคาดว่า ภายใน 1 สัปดาห์น่าจะได้ข้อกำหนดแนวทางใหม่ขึ้นมา ระหว่างนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมไปก่อน ทั้งนี้ ก่อนเปรียบเทียบปรับ อาจให้มีมาตรการอื่น เช่น ตักเตือน หรือให้บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่สังคม
ส่วนมาตรการเรื่องวัคซีน โควิด-19 ที่มีแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย 100 ล้านโดส โดยจากประชากร 70 ล้านคนต้องได้รับวัคซีน 70% คิดเป็นจำนวน 50 ล้านคน ขณะนี้ประเทศไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส ดังนั้ นจึงต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 37 ล้านโดสสำหรับประชากรในประเทศ จำนวน 18.5 ล้านคน สิ่งที่เราจะต้องทำคือต้องหาวัคซีนให้ได้เพียงพอและทันเวลาโดยจะต้องฉีดเข็มที่สองเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564 หากสามารถจัดหาวัคซีนได้ 20 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามแผนที่ตั้งไว้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเป็นแผน เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นที่สัมผัสโรค เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำงานสถานกักกัน อาชีพเสี่ยง พนักงานขับรถสาธารณะ ครู ประชาชนผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ซึ่งแผนต่างๆ ได้วางไว้ทั้งหมดแล้วนอกจากนี้ยังมีการลงไปในรายละเอียดว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการฉีดจะเป็นไปตามแผนที่จะครอบคลุมประชากรภายในปี 2564
ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า จะมีจุดบริการที่จะฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล จำนวน 1,000 แห่ง แห่งละ 500-1,000 โดสต่อวัน รวม 5 แสน ถึง 1 ล้านโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน คิดเป็น 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ จะฉีดครบ 100 ล้านโดสภายในระยะเวลา 4-7 เดือนคือ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ส่วนกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่เปราะบางทางพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค. ได้มีความเป็นห่วงมากจึงต้องให้จัดจุดบริการต่างๆ และให้เพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์ประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 1 แสนโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน เท่ากับ 3 ล้านโดสต่อเดือน โดยจะได้รับเข็มที่หนึ่งครบภายในระยะเวลา 3 เดือนคือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564
กระทรวงสาธารณสุขขอเสนอให้พิจารณาใน 3 ข้อคือ 1.แผนการจัดหา การจัดฉีดวัคซีน โควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส 2.ทราบโครงการการจัดหา จัดซื้อวัคซีน โควิด-19 เพิ่มเติม สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 18.5 ล้านคนหรือ 37 ล้านโดส โดยการจัดซื้อรวมเป็นวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาจัดซื้อสำหรับประชากรทั้งสิ้นจำนวน 50 ล้านคนหรือวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส และ3.ขออนุมัติหลักการ ให้ทางภาครัฐและเอกชน จัดหาจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 ให้วัคซีนที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและราคา เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 โดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐจัดหาวัคซีน ไฟเซอร์จำนวน 5-20 ล้านโดส สปุตนิกวี จำนวน 5-10 ล้านโดส Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส และซิโนแวค 5-10 ล้านโดส หรือวัคซีนอื่นเช่น โมเดิร์นนา ซีโนฟาร์ม หรือบารัท หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยภาคเอกชนไม่ได้ถูกตัดออกจากความร่วมมือ ยังสามารถที่จะร่วมจัดซื้อได้
โดยข้อสรุป ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ให้มอบหมายให้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขาภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน 4 ด้านคือ 1.การจัดทำแผนกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในระยะถัดไป 2.ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนในการกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดต่างๆ 3 ประสานงานกับ สปสช. แรงงาน และภาคเอกชนในการรวบรวมตรวจสอบข้อมูลความต้องการวัคซีนของแรงงานในระบบประกันสังคม และจัดส่งให้กรมควบคุมโรคทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินการต่อไป และ4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาอุปสรรค ในกรณีที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนด้วยตนเองในระยะต่อไป โดยจะนำเสนอผลการดำเนินงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์สถานการณ์ โควิด-19 ต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่พยายามทำกันขึ้นมาโดยหลักการไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดความลำบากในชีวิตของประชาชน แต่อย่างน้อยต้องขอให้ลดการเดินทาง ลดการพบปะ และให้ทำงานที่บ้านกันให้มาก เพราะการติดต่อเกิดจากคนต่อคนเพราะฉะนั้นหากรถการติดต่อก็จะลดการระบาดจึงขอแรงพี่น้องประชาชนทุกท่านทำความเข้าใจให้ปฏิบัติและทำตามเรื่องที่เราได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำขึ้นมา 14 วันนี้ หากตัวเลขลดลงการผ่อนคลายก็จะเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย