สปสช.29 เม.ย.-สปสช.ย้ำตรวจรักษาโควิดผู้ป่วยทุกสิทธิรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชนไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลรับผิดชอบค่ารักษาส่วนนี้ให้ โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย ยืนยันสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทุกกรณี ทั้งค่ายา ค่ารถส่งต่อ ค่าตรวจแล็บ ชุด PPE ห้องความดันลบ รพ.สนาม hospitel
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจโควิด-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยในทุกสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่าติดเชื้อและกรณีที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีคำว่าเรียกเก็บส่วนที่เกินจากที่รัฐบาลจ่ายให้ เพราะรัฐบาลจ่ายให้ครอบคลุมในทุกกรณีแล้ว
ในส่วนของการตรวจโควิด-19 โรงพยาบาลจะเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองทั้งหมด แต่ในส่วนการรักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อจะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคมเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับ สปสช.
“ขณะนี้ทราบว่ามีข้อร้องเรียนทาง Social media ประชาชนบอกว่าถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องจ่ายเงินเอง ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในกรณีของโรงพยาบาลเอกชนนั้น สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยเด็ดขาด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล ท่านได้รับค่ารักษาแน่นอน ที่ผ่านมามีค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 1 ราย โรงพยาบาลส่งเบิกมา 8 แสนบาท ซึ่งเป็นกรณีวิกฤติหรือสีแดง ตรงนี้ สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว หรือกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองอาการไม่รุนแรงที่โรงพยาบาลส่งเบิกเข้ามาตามหลักเกณฑ์ มี 1 รายที่มีค่ารักษาประมาณ 4 แสนบาท สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้วเช่นกัน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรองหรือ State Quarantine (SQ)
สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ
ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน 1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย
“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330” นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้การจ่ายชดเชยโควิด-19 ให้หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลเพิ่มเติมจากระบบปกติ ครอบคลุมดังนี้
กรณีผู้ป่วยนอก (OP)
- ค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง
- ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อCovid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย
- ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน , ด่าน ,SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+3,700บาท)
กรณีผู้ป่วยใน (IP)
- ค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง
- ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อ Covid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย
- ค่าชุด PPE เหมาจ่าย 740 บาท ต่อ ชุด หรือ ค่าอุปกรณ์อื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ตามอาการเล็กน้อย จ่ายตามจริงไม่เกิน 11,100 บาท ต่อวัน หรือ อาการรุนแรงจ่ายตามจริงไม่เกิน 22,200 บาท ต่อวัน
- ค่าห้อง
1) ค่าห้องควบคุม หรือห้องดูแลการรักษาภายในรพ. จ่ายตามจริงไม่เกิน 2,500 บาทต่อวัน
2) ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Covid 19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 คือ สถานที่อื่นของหน่วยบริการ ที่จัดให้เป็นหอผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยบริการนั้น ๆ ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือแนะนำ เช่น Cohort ward, Camp Isolation, โรงพยาบาลสนาม Hospitel เป็นต้น) - ค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ, บ้าน, ด่าน, SQ + ชุด PPE +ยาฆ่าเชื้อ (จ่ายตามจริงตามระยะทาง+ค่าอุปกรณ์ป้องกันและทำความสะอาด 3,700บาท)
สำหรับค่าตรวจ Lab + ค่าเก็บตัวอย่าง หรือค่าตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ครอบคลุมบริการตรวจคัดกรอง 4 รายการ ได้แก่
1.การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
2.การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น
- การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
- การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400 บาท ค่าบริหารเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
- การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท
3.การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท และ 4.การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท .-สำนักข่าวไทย