ทำเนียบ 28 เม.ย.-ศบค.เผยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย สถิติสูงสุด 2 วันติด อาการหนัก 695 คน
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ในวันนี้ (28 เม.ย.) ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,893 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 108 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 11 ราย
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 61,699 ราย หายป่วยแล้ว 34,402 ราย รักษาอยู่ 27,119 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 695 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 178 ราย
โดยผู้เสียชีวิต 15 ราย แบ่งเป็นชาย 11 ราย และหญิง 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด ไตเรื้อรัง และโรคอ้วน โดยมีความเสี่ยงจากประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันในครอบครัวมากกว่า 10 ราย และมี 1 ราย เป็นผู้ป่วยเสียชีวิตในระหว่างรอคิวตรวจเป็นเวลา 3 วัน
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงสุด อันดับ 1 กรุงเทพฯ 830 ราย สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรี 108 ราย นนทบุรี 71 ราย สมุทรสาคร 59 ราย ปทุมธานี 57 ราย เชียงใหม่ 55 ราย สงขลา 52 ราย สุราษฏร์ธานี 40 ราย และนครปฐม 38 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวถึงทิศทางผู้ติดเชื้อรายจังหวัดพบว่า ในหลายๆ จังหวัดปรับตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นสีเขียวและสีเหลือง สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ในจังหวัดนั้นๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่สามารถจัดสรรเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้มีการปรับระดับสีตามจังหวัด ซึ่งพบว่ามี 9 จังหวัด ที่ไม่มีการรายผู้ติดเชื้อเพิ่ม จึงปรับเป็นพื้นที่สีขาว และมี 35 จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย ในจังหวัดนั้นๆ จึงปรับเป็นพื้นที่สีเขียว และมี 25 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย ในจังหวัดนั้นๆ เป็นพื้นที่สีเหลือง และมี 3 จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ยังกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงไว้
สำหรับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย (ตั้งแต่ 28 ก.พ.-27 เม.ย.64) รวม 1,279,713 โดส ประกอบด้วย ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,038,960 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 240,753ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเดือนเมษายน พบว่าร้อยละ 44.3 มาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า, ร้อยละ 25.2 ไปยังสถานบันเทิงและร้อยละ 9.8 เป็นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและผู้ติดเชื้อในชุมชน.- สำนักข่าวไทย