สำนักข่าวไทย 1 ม.ค.-กรมสุขภาพจิต คาดก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 คนไทยทุกวัย ติดโลกโซเชียลมากขึ้น เด็กเพราะพ่อแม่ขาดเวลา ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุเพราะเหงา ส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตในการเข้าสังคม ไม่ใช่หาความรู้ สังคมคนพูดคุยน้อยลง แนะครอบครัวต้องสร้างกติกาใช้โลกออนไลน์ โรงเรียนต้องมีกติกาการเรียน คาดจะเห็นเป็นรูปธรรม ปี 2575
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า สังคมไทย จะมีพฤติกรรมติดโลกออนไลน์กันมากขึ้น ส่วนใหญ่สัดส่วนการใช้เป็นไปเพื่อความสนุกสนานและบันเทิงมากกว่าการหาความรู้ จากโลกออนไลน์ ซึ่งตามหลักจิตวิทยา คนที่ติดโลกออนไลน์ หรือสื่อโซเชียล เป็นเพราะ1.ขาด 2. เหงา
ทั้งนี้ หากแบ่งประเภท ตามกลุ่มวัย 1. วัยเด็ก ตั้งแต่เด็กประถมวัย เล่นสมาร์ทโฟน หรือใช้สื่ออนไลน์ เล่นเกมส์ เพราะพ่อแม่ขาดเวลาคิดว่าการให้ลูกเล่นเกมส์ เพื่อจะได้ไม่ซนเด็กอยู่นิ่ง ความคิดนี้ไม่ถูกต้อง 2. ผู้ใหญ่ วัยทำงาน ส่วนใหญ่เครียด จึงใช้หาความบันเทิงจากสื่อออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง การติดสื่อออนไลน์เหล่านี้ มักไม่รู้ตัว ทำให้พลาดโอกาสสำคัญ ทั้งการสื่อสารกับคนรอบข้าง ขาดการออกกำลังกาย เพราะจิตใจจดจ่อกับสื่อออนไลน์ตรงหน้า 3.ผู้สูงอายุ ใช้สื่อออนไลน์ เพื่อหาสังคม เพราะเหงา ในอดีตคนสูงอายุมักติดโทรทัศน์ แต่ต้องเข้าใจว่า เป็นการสื่อสารทางเดียว แต่เมื่อมีสื่อออนไลน์ เป็นการสื่อสาร 2 ทาง โต้ตอบกันได้ทันที ทำให้คลายเหงา
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ต้องสร้างกติกาในครอบครัว ใช้กฎ 3 ต้อง 3 ไม่ ในครอบครัวที่เด็กประถมวัย ได้แก่ 1.ต้องมีการวางกฎเกณฑ์ การเล่นให้เหมาะสม 2.ต้องวางและเลือกโปรแกรม 3.ต้องหัดเล่นกับลูก อย่าให้ปล่อยให้ภาระการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของสื่อออนไลน์หรือเกมส์
ส่วน 3 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่นำไปเล่นในห้องนอน เพราะมีผลกับพัฒนาการของเด็ก 2.ไม่ใช้ในเวลาครอบครัว เล่นรับประทานอาหารหรือกิจกรรมในครอบครัว เพื่อการพูดคุยกันครอบครัวอย่างเต็มที่ 3.ไม่ใช้ในทางที่ผิด ซึ่งทุกข้อนี้ ผู้ปกครองต้องทำให้เป็นนิสัย เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน ไม่ใช่ห้ามเด็ก แต่เล่นเอง ซึ่งการจะทำเช่นได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความรู้อย่างมาก ส่วนในคนสูงอายุ ต้องหัดหรือหาพื้นที่ให้ทำกิจกรรม
ทั้งนี้ คาดว่าการเห็นความเปลี่ยนของไทยแลนด์ 4.0 จะเริ่มเห็นในปี 2575 แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องอาศัยระหว่างทางนี้ ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นแรงฉุดต้นทุนต่ำในขณะนี้ให้น้อยลง ทำให้สังคมไทยใช้สื่อออนไลน์ถูกทางและเหมาะสม .-สำนักข่าวไทย