สภาอุตสาหกรรม 17 มี.ค.- คลัง จับมือ สภาอุตฯ หนุนส่วนราชการ จัดซื้อจัดจ้างใช้สินค้าไทยผลิตในประเทศ “Made in Thailand” คาดเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หวังดึงสินค้าเข้าระบบจัดจ้างไม่ต่ำกว่าแสนรายการ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการผลักดันนโยบาย “Made in Thailand” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น หลังจาก ครม. อนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาหวังช่วยให้ผู้ประกอบการและห่วงโซ่ SME เพราะแต่ละปียอดการซื้อจากภาครัฐผ่านงบประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท นับว่า ช่วยยกระดับการแข่งขัน และเกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันการรับรองเครื่องหมาย Made in Thailand จากโครงการลงทุนภาครัฐ ทำให้เม็ดเงินกระจายสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ปัจจุบันโรงงาน 60,000 แห่ง รวมทั้งกลุ่ม SME เครือข่าย และยังเชื่อมโยงกับแรงงานกว่า 5 ล้านคน ทำให้ลดการพึ่งพานำเข้าสินค้าและหันมาพัฒนา จึงเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียนขอการรับรอง Made in Thailand กับสภาอุตสหากรรมฯ ร่วมผลักดัน สินค้า Made in Thailand สู่การจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานภาครัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการ Made in Thailand ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทย เมื่อกำหนดใช้สินค้าในประเทศร้อยละ 60 นับว่าช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท สภาอุตสาหกรรมฯ ยังวางแผนการผลักดันสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ไปสู่การจัดซื้อในห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรม และผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและบริโภคสินค้า Made in Thailand มากขึ้นด้วย
น.ส.นิภา ลำเจียกเทศ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุต้องการใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กผลิตในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น หากหน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ตามกำหนด จากปัญหาขาดแคลน หรือผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผลิตได้ หรือเหตุผลอื่น ๆ หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ ต้องได้รับการอนุมัติจากระดับนโยบาย สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างในต่างจังหวัดให้เน้นใช้สินค้าในพื้นที่เป็นหลัก และยังเปิดให้เอสเอ็มอีไทยได้แต้มต่อในการประมูลงานแข่งกับต่างชาติที่ผลิตสินค้าในประเทศ หลังจากนี้ หลายหน่วยงานจะทะยอยออก TOR จัดซื้อจัดจ้าง จากข้อกำหนดใหม่
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. เตรียมความพร้อมการรับขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand (MiT) โดยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบบรับรองได้รับคำปรึกษาด้านการดูแลความลับของข้อมูลจากที่ปรึกษาระดับ Big 4 และ ส.อ.ท. ดูแลด้านนี้อย่างมีหลักการ ทั้งด้านระบบและด้านจรรยาบรรณเจ้าหน้าที่ โดยการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand ใช้แนวทางการคำนวณมูลค่าตามหลักการ ASEAN Content โดยปรับให้ตรงวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนสินค้าผลิตในประเทศ ซึ่งต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 40
สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์ รวมถึงจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลไปยังกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก (Trader) ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐให้เข้าใจในกฎกระทรวงฉบับใหม่และการนำสินค้า Made in Thailand ไปเสนอต่อภาครัฐด้วย โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าปี 2564 มีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า เป็นโอกาสสำคัญมากในการสร้างหรือเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการกับภาครัฐ ในครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย