กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – OR ลงทุนในเมียนมาชะงัก รอการเมืองชัดเจน พร้อมลุย ต่างประเทศเพิ่มหลังเดินทางเจรจาการค้าได้ โควิด-19 คลี่คลาย เล็งประเทศที่มีศักยภาพขยายธุรกิจ
น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR การส่งเชื้อเพลิงเข้าไปจำหน่ายในเมียนมา ในขณะนี้ยังดำเนินการตามปกติ แต่ในส่วนของการลงทุนก่อสร้างบริษัทร่วมทุน ในขณะการก่อสร้างต้องหยุดชะงักไปก่อน จากที่เมียนมามีรัฐประหารและมีข้อกำหนดในเรื่องการรวมกลุ่มของประชาชน รวมทั้งต้องรอความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องชะลอการลงทุนออกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
สำหรับ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในเมียนมา เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท คันบาวซา จำกัด (Kanbawza KBZ Group of Companies Limited) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา จัดตั้ง 2 โครงการ คือ 1.โครงการร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ในการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการจัดตั้งและบริหารคลังน้ำมัน ท่าเรือ และโรงบรรจุก๊าซหุงต้มแอลพีจี ซึ่งเดิมโครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 นับเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา มีความจุรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุแอลพีจี รวม 4,500 เมตริกตัน มีการก่อสร้างประมาณร้อยละ 65
2.โครงการร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก อยู่ระหว่างก่อสร้าง ร่วมทุน กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ รีเทล จำกัด ซึ่งจะมีทั้งปั๊ม พีทีที สเตชั่น, ก๊าซหุงต้มแอลพีจี และร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน วางเป้าหมายการขยายสถานีฯ ที่ 70 แห่ง ภายในปี 2566
ส่วน ในจีน ได้มีการจัดตั้งบริษัท PTTOR CHINA เพื่อทำธุรกิจหล่อลื่น และขยายสาขาร้านกาแฟอเมซอนในจีนตอนใต้ ในจีนไปแล้ว 3 สาขา ส่วนในเวียดนาม นั้นโออาร์ ได้ร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผ่านบริษัท พีทีทีโออาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์ (สิงคโปร์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโออาร์ เพื่อดำเนินธุรกิจกาแฟอเมซอนในเวียดนาม ปัจจุบัน จัดตั้งแล้ว 5 สาขา มียอดขายเติบโตเกินเป้าหมายอยู่ที่ 315 แก้วต่อสาขาต่อวัน
“ปี64 เมื่อ โควิด-19 คลี่คลาย การเดินทางสะดวก ทางโออาร์ก็พร้อมขยายธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งเรื่องการค้าเชื้อเพลิง และธุรกิจที่ไม่ใช้น้ำมันหรือ non oil โดยเป้าหมายจะเลือกประเทศที่มีประชากรสูงก่อน และปรับรูปแบบธุรกิจและสินค้าให้เข้ากับความต้องการของประชากรในแต่ละท้องถิ่น เช่นในจีน เราก็มีกาแฟรสทุเรียน ส่วนในกัมพูชาก็เล็งว่าจะนำผลิตภัณฑ์ “โอ้กะจู๋”ไปจำหน่ายด้วย พร้อมนำเอสเอ็มอีไทยไปเติบโตพร้อมกันในต่างประเทศ”น.ส.จิราพร กล่าว-สำนักข่าวไทย