ศาลปกครอง 9 มี.ค.-ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 20 ปี ชูระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย สะดวก ไม่สิ้นเปลือง สอดคล้องชีวิตวิถีใหม่
นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การเปิดทำการศาลปกครอง โดยระบุว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน รับคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้ว 174,424 คดี เป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น 123,380 คดี และเป็นคดีอุทธรณ์ หรือฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด 51,044 คดี โดยศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ 146,537 คดี คิดเป็นร้อยละ 84.01 ของคดีรับเข้า
ประธานศาลปกครองสูงสุด ระบุอีกว่า นับตั้งแต่ปี 2562 ศาลปกครองได้เปิดใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ของศาลปกครอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีและประชาชน ให้สามารถยื่นฟ้องคดีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา และได้พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสามารถยื่นคำฟ้อง คำให้การและสำเนาพยานหลักฐานประกอบคำฟ้อง คำให้การ และตามที่ศาลมีหมายเรียก การชำระค่าธรรมเนียมศาล ส่งคำร้องคำขอ รวมถึงการขอดำเนินกระบวนพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงข้อมูลในสำนวนคดีของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาล ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าใจงานระบบแล้ว 716 ราย โดยในส่วนของศาลปกครองชั้นต้น มีคดีที่ยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ 267 คดี พิจารณาคดีแล้วเสร็จ 126 คดี ส่วนศาลปกครองสูงสุด มีคดีฟ้องตรงที่ยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ 19 คดี พิจารณาคดีแล้วเสร็จ 17 คดี มีคดีค้าง 2 คดี
ศาลปกครองยังเพิ่มทางเลือกใหม่ โดยเปิดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง ซึ่งนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่นำกระบวนการไกล่เกลี่ยมาใช้ มาคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลปกครองชั้นต้น 203 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ 164 คดี คิดเป็นร้อยละ 80.79 ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และมีคดีอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย 34 คดี ซึ่งคดีที่ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ ร้อยละ 70.12 ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และในปี 2563 ที่เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ผลงานคดีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 มีคดีรับเข้า 3,467 คดี และมีคดีแล้วเสร็จ 4,116 คดี ซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบาย Work from home โดยใช้เทคโนโลยีช่วยสนับสนุนในการดำเนินงาน
ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2564 กำหนดให้เป็นปีแห่งการพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง ให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนและในระดับสากล และสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งจะต้องมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวดเร็ว ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ศาลปกครองยังปรับปรุงห้องพิจารณาคดีและห้องไต่สวนให้เป็นห้องพิจารณาคดีอิเล็กทรอนิกส์ ที่ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องฉายภาพ และโทรทัศน์วงจรปิดที่ถ่ายทอดภาพจากคอมพิวเตอร์และเครื่องฉายภาพ 3 มิติ ทำให้คู่กรณีเห็นเอกสารพยานหลักฐานที่ศาลใช้ประกอบพิจารณาคดีผ่านอุปกรณ์ภายในห้องพิจารณา ขณะเดียวกัน ติดตั้งระบบบันทึกภาพและเสียง เพื่อให้ศาลเรียกดูไฟล์ย้อนหลังได้
นอกจากนี้ ศาลปกครองยังกำหนดให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและกระบวนการทำงานของศาลปกครอง ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เช่น พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data พัฒนาระบบ AI ยกระดับการปฏิบัติงานสู่การเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ พัฒนา Mobile Application ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประชาชน เป็นต้น
จากนั้น นายจำกัด ชุมพลวงศ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงกรณีรัฐบาลล้มประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการฟ้องคดีอยู่ในศาลปกครอง ว่า คดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ หลัง รฟม.มีการเปิดประมูลไปแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในประเด็นที่ บมจ.บีทีเอสซี ขอให้เพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ดังกล่าว เพราะหมดเหตุที่ศาลจะต้องวินิจฉัย เนื่องจาก รัฐบาลได้มีการยกเลิกการประมูลและเปิดการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวใหม่ แต่ยังเหลือประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาต่อไป คือ กรณี บมจ.บีทีเอสซี ขอให้ศาลสั่งให้ รฟม.ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000บาท จากการจ้างที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคในการยื่นประมูลโครงการดังกล่าวเท่านั้น
รองโฆษกศาลปกครอง ยังกล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ กสทช.คืนเงินค่าใบอนุญาตสัมปทานทีวีดิจิตอลให้กับ บริษัท ไทยทีวี จำกัด หลังยกเลิกสัญญาสัมปทาน ว่า แม้เหตุผลที่ศาลใช้ประกอบการพิพากษาดังกล่าว มาจากปัญหาการจัดการที่ไม่พร้อมของ กสทช. ในเวลานั้นที่มีประเด็นข้อพิพาท แต่ไม่ใช่จะมาเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในปัจจุบันสามารถเป็นเหตุในการฟ้องคดีในขณะนี้ เพื่อขอคืนค่าสัมปทานเหมือนกรณี บริษัท ไทยทีวี จำกัดได้ เพราะศาลก็ต้องพิจารณาเงื่อนไขในการรับความเดือดร้อนเสียหาย รวมทั้งปัจจุบัน ก็มีคำสั่ง หัวหน้า คสช. ที่ให้ผู้ประกอบการสามารถคืนสัมปทานได้ โดยได้รับเงินชดเชย
ด้าน น.ส.สายทิพย์ สุขคติพันธ์ รองโฆษกศาลปกครอง ชี้แจงกรณีที่มีการนำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไปอ้างในทำนองศาลพิพากษาว่า กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยมีสิทธิที่จะกลับไปอยู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า ข้อเท็จจริง ชาวบ้านมาฟ้องคดี ขอให้ศาลสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน โดยศาลก็ได้มีคำพิพากษายึดตาม พ.ร.บ.อุทยาน พ.ศ.2504 ว่า ชาวบ้านไม่ได้มีหลักฐานการครอบครองที่ดินก่อนการประกาศเขตอุทยาน และในคำพิพากษา ศาลได้ระบุว่า ถึงแม้จะอยู่ในเขตอุทยาน แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานต้องอยู่ภายใต้หลักบริหารงานทางปกครอง ต้องให้มาตรการหนักเบาตามลำดับขั้น เพื่อให้มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด จึงนำไปสู่คำพิพากษาให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น หาใช่คำพิพากษาที่มาจากการฟ้องคดีโดยตรงว่า ชาวบ้านมีสิทธิที่จะอยู่ในเขตที่กำหนดว่า เป็นเขตอุทยานหรือไม่ หากมีการฟ้องในประเด็นนี้ ศาลก็ต้องมีการนำสืบพยานหลักฐานในอีกลักษณะหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย