กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – ทีดีอาร์ไอ สภาผู้ส่งออก และหอการค้าไทย แนะนักธุรกิจไทยเร่งตัดสินใจลงทุนประเทศอาเซียน แนะรัฐปรับแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่มากกว่าเปิดบูธขายสินค้าเท่านั้น
นายนพพร เทพสิทธา ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “อาเซียนและโอกาสทางธุรกิจของไทย” ว่า โอกาสที่เอกชนไทยจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอาจเหลือเพียง 1 -2 ปีเท่านั้น เพราะจีนเข้าไปทำธุรกิจก่อนจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสของเอกชนไทยจะลดน้อยลงหรือหมดไป และคาดว่าจีนอยู่ระหว่างเตรียมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่คาดว่าจะใช้นโยบายการค้านำการเมือง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนจะทำ คือกระจายการลงทุนในทุกภูมิภาคและขยายการลงทุนออกนอกประเทศจีน รวมทั้งไทย ดังนั้น นักธุรกิจไทยจะต้องเข้าไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหากไม่ไปจะไม่มีที่ลงทุน อีกทั้งยังต้องปรับตัวรับแนวโน้มอุตสาหกรรม 4.0
นายสมยศ ตั้งมีลาภ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โอกาสทางธุรกิจของไทยในประเทศเพื่อนบ้านมีมาก แต่สินค้าและบริการที่จะนำเข้าไปเปิดตลาดจะต้องมั่นใจว่าสามารถเจาะตลาดได้ เพราะสินค้าไทยปัจจุบันได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพอยู่แล้ว ขณะนี้ยังมีนักธุรกิจบางส่วนออกไปลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในประเทศกัมพูชา ธุรกิจบริการในเมียนมาร์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น
นายกลินท์ สารสิน รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยมีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนในการนำนักธุรกิจไทยออกไปดูลู่ทางและโอกาสในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และเห็นว่าควรให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานสนับสนุนการออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
นายกลินท์ กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถพัฒนาประเทศให้มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้และอนาคตทิศทางภาคธุรกิจจะปรับไปสู่ภาคบริการมากขึ้น ส่วนอุปสรรรคทางกฎหมายที่ล้าสมัย มีการเดินหน้าแก้ไขแล้วผ่านแนวทางประชารัฐที่กำลังปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้ทันสมัย คาดว่าจะลดอุปสรรคข้อกฎหมายที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ดีขึ้นได้ ด้านข้อมูลการลงทุนในต่างประเทศควรมีหน่วยงานกลางรวบรวมและคัดกรองข้อมูล
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากข้อมูลของทีดีอาร์ไอ พบว่าปี 2557 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ไปลงทุนในอาเซียน มีจำนวน 123 บริษัท จากจำนวนทั้งหมด 516 บริษัท มีบริษัทลูกในอาเซียนมากถึง 600 บริษัท ลงทุนในธุรกิจพลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกและค้าส่ง เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการที่ออกไปลงทุนเป็นบริษัทขนาดใหญ่และกำไรดี โดยกลุ่มที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านกำไรถึงร้อยละ 11.1 และเห็นว่ารัฐบาลไทยควรปรับวิธีการส่งเสริมการค้า-การลงทุน โดยคัดเลือกผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมและส่งเสริมออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ฝีมือดีที่สุดไปฝังตัวเก็บข้อมูลและทำงาน และการทำธุรกิจควรเป็นลักษณะผู้ประกอบการต่อผู้ประกอบการ จากที่ผ่านมาเป็นผู้ประกอบการถึงผู้บริโภคในลักษณะเปิดบูธขายสินค้าเท่านั้น
นางเสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องปรับวิธีการส่งเสริมการค้า-การลงทุน พัฒนาการค้าชายแดนและผ่านแดน การพัฒนาช่องทางใหม่ เช่น E-commerce ให้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมหากไม่จะตกขบวน พัฒนาความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่ผ่านมาไทยโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านเพียงปีละประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ ควรเพิ่มความเข้มแข็งของแบรนด์และปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาก่อนเข้าไปขายสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบสินค้าของไทย เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย