กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คาดการส่งออกปีนี้จะหดตัวร้อยละ 0.8 หรือดีที่สุดทรงตัวร้อยละ 0 ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0-1 มีปัจจัยเสี่ยงทั้งความผันผวนเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ ผลกระทบจากนโยบายการเงินและการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความผันผวนของราคาน้ำมันและทองคำ มาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและแรงงานในประเทศ ความสามารถของผู้ประกอบการและรัฐบาลไทย ต้นทุนโลจิสติกส์สำหรับการค้าระหว่างประเทศ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น
นายนพพร กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกการค้าแห่งชาติ เพื่อให้ไทยมีความพร้อมรองรับการเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบเอฟทีเอเอพี และกรอบ RCEP เพื่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการพัฒนาภายในประเทศให้มีมาตรฐานสูงขึ้น สอดคล้องกับทิศทางขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ขณะเดียวกันต้องพัฒนาระบบและมาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในกิจกรรมการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการทางการค้าระหว่างประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สำหรับตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคมมีมูลค่า 17,783 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.2 ขณะที่มูลค่าการส่งออกรูปเงินบาท 614,153 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.11 ส่งผลให้ 10 เดือนแรกปี 2559 มีมูลค่า 178,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ 1.02 ส่วนในช่วง 2 เดือนที่เหลือ ถ้าไม่มีปัจจัยบวกมาสนับสนุนคาดว่าการส่งออกจะอยู่ในระดับทรงตัว
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติถือเป็นมาตรการที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่องจากการบริโภคไตรมาสนี้ค่อนข้างซบเซา แต่กังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้มีกำลังซื้ออยู่แล้วไม่ช่วยผู้มีรายได้น้อย ส่วนนโยบายลดภาษีอากรขาเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทน้ำหอมและเครื่องสำอาง ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะกระทบยอดขายผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์ไทย เพราะคนจะแห่ไปซื้อแบรนด์นอกกันหมด หวั่นอาจจะมีการกักตุนสินค้ามากกว่า 1 ปี จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยให้คำนึงถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหลัก ควรแข่งขันด้วยคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ .-สำนักข่าวไทย