ภูมิภาค 11 ม.ค. – รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร พร้อมผู้แทนจากหลายภาคส่วน ร่วมกันส่งตัวแรงงานข้ามชาติ 292 คน ที่กักตัวอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 กลับคืนสู่ตลาดกลางกุ้ง หลังจากกักตัวจนครบกำหนดระยะเวลา 10-14 วัน แล้วตรวจซ้ำไม่พบเชื้อโควิด-19 เป็นการยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 292 คน ปลอดเชื้อ ปลอดภัย ปลอดโควิด-19 แน่นอน
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) ตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 15 ราย รวมยอดสะสมทั้งสิ้น 509 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว 249 ราย อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดระยอง ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคลงได้เมื่อใด แม้ที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีใหม่เรื่อยมาจะพบว่ายอดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จะลดลงต่อเนื่องมาตามลำดับ จนเหลือเพียงเลขตัวเดียวก็ตาม จนทำให้หลายฝ่ายโล่งใจว่าจะสามารถยับยั้งโรคร้ายลงได้โดยเร็ว แต่มาถึงวันนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่พุ่งขึ้นไปเป็นเลข 2 ตัว ทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมในจังหวัดระยอง พุ่งทะลุ 500 ราย
จึงเป็นเหตุผลที่อยากขอความร่วมมือชาวระยองการ์ดอย่าตก เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่สามารถจะสรุปหรือไว้วางใจได้จังหวัดระยองยังเป็นพื้นที่เสี่ยง ส่วนการตรวจค้นหาผู้ป่วยในเชิงรุกจึงยังต้องดำเนินการไปต่อเนื่อง ขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจค้นเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงแล้ว จำนวน 11,731 ราย
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมผู้แทนจากหลายภาคส่วน ร่วมกันส่งตัวแรงงานข้ามชาติ 292 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 1 สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร กลับคืนสู่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร หลังจากกักตัวจนครบกำหนดระยะเวลา 10-14 วัน แล้วตรวจซ้ำไม่พบเชื้อโควิด-19 เป็นการยืนยันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 292 คน ปลอดเชื้อ ปลอดภัย ปลอดโควิด-19 แน่นอน โดยทุกคนที่จะได้เดินทางกลับสู่ตลาดกลางกุ้ง ต่างรู้สึกดีใจ เร่งขนข้าวขนของขึ้นรถ พร้อมกันนี้ยังได้รับถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทุกคน คนละ 1 ถุงอีกด้วย
เมื่อรถนำส่งกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 กลับมาสู่ตลาดกลางกุ้ง มีบรรดาเพื่อนๆ แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในตลาดกลางกุ้ง มารอรับกันอย่างใจจดใจจ่อ และดีใจส่งเสียงเฮปรบมือลั่น เมื่อรถขับเข้ามาถึงภายในตลาด ซึ่งรอยยิ้มนั้นไม่เพียงแค่ปรากฏบนใบหน้าของแรงงานข้ามชาติที่ได้กลับมาเท่านั้น แต่รอยยิ้มยังมีให้เห็นบนใบหน้าของแรงงานที่มารอรับทุกคนกลับมาอีกด้วย
สำหรับขั้นตอนเมื่อกลับมาถึงตลาดกลางกุ้งแล้วจะต้องทำทะเบียนประวัติบุคคลเข้าพื้นที่ควบคุมพิเศษ โดยมีเจ้าหน้าที่ ตม.สมุทรสาคร คอยตรวจเอกสารที่แรงงานข้ามชาติจะต้องยื่น เพื่อกรอกข้อมูล ประกอบด้วย หนังสือรับรองผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากสำนักงานสาธารณสุข และพาสปอร์ต
ในส่วนของแรงงานข้ามชาติที่ยังคงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในตลาดกลางกุ้งคือ กลุ่มก้อนสีขาว หรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ มีอีกราวๆ 1,000 คน ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อประมาณ 700 คน ถูกแยกออกไปอยู่ในศูนย์ห่วงใยคนสาคร ตามกระบวนการคัดกรองโรค ส่วนที่เหลือคือผู้ที่ติดเชื้อแล้ว รักษาหายแล้ว จนมีภูมิคุ้มกันแล้ว และได้กลับมาอยู่ในตลาดกลางกุ้งอีกครั้ง ดังนั้น หากกลุ่มก้อนที่สีขาวที่จะต้องมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งในวันที่ 22 มกราคมนี้ ถ้าไม่มีการพบเชื้อเพิ่ม หรือพบเพียงเล็กน้อย จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าตลาดกลางกุ้งปลอดภัย
ที่จังหวัดเพชรบุรี นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ระบุว่า การตรวจหาเชื้อบุคคลกลุ่มเสี่ยงของจังหวัด พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย ทั้งหมดเป็นหญิงจากโรงงานปลากระป๋อง จังหวัดสมุทรสาคร อายุ 41 ปี, 43 ปี, 55 ปี โดยทั้ง 3 ราย เดินทางไปทำงานที่โรงงานปลากระป๋อง แบบไป-กลับ กระทั่งโรงงานปิด และทราบข่าวว่ามีเพื่อนในโรงงานติดเชื้อ ประกอบกับมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ และลิ้นสัมผัสไม่มีรส จึงเข้าทำการตรวจหาเชื้อและรักษา เมื่อวันที่ 8 มกราคม กระทั่งพบเชื้อดังกล่าว โดย 1 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า อีก 2 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านแหลม ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีได้สอบสวนโรคและนำผู้สัมผัสใกล้ชิดตรวจเชื้อและกักตัว โดยอยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งบางส่วนผลเป็นลบ แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เพื่อทำการตรวจซ้ำอีก
ส่วนการดูแลผู้รักษาหาย 12 ราย ที่เดินทางกลับบ้านแล้ว แม้จะรักษาหายแล้วแต่ยังคงต้องกักตัวเองอีก 14วัน โดยจังหวัดเพชรบุรีจะดูแลด้านอาหารการกินจนครบ 14 วัน และฝากถึงชุมชนว่าสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสบายใจ
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ของเพชรบุรี ผลการส่งตรวจทั้งหมด 9,726 ราย ไม่พบเชื้อ 9,423 ราย และกำลังรอผล 276 ราย รวมยอดสะสมผู้ติดเชื้อ 27 ราย รักษาหายแล้ว 12 ราย กำลังรักษาอีก 15 ราย
ที่อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แถลงผลการตรวจพบผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นชายอายุ 62 ปี เป็นชาวบ้านตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ มีอาชีพขายผักตามตลาดนัดในอำเภอสว่างวีระวงศ์ มีอาการไอ หอบเหนื่อยมา 1 วัน และค่ำวันที่ 8 มกราคม เข้ารักษาตัวเบื้องต้นที่โรงพยาบาลอำเภอสว่างวีระวงศ์ และถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลวารินชำราบ เช้าวันที่ 9 มกราคม แพทย์สงสัยจะติดเชื้อโควิด-19 จึงนำเข้าห้องแยกโรค พร้อมเก็บหาเชื้อส่งตรวจ กระทั่งดึกผลยืนยันพบเชื้อโควิด-19 อาการล่าสุดช่วงเที่ยงวานนี้ยังรู้สึกตัวดี จากนี้ต้องเฝ้าระวังจะมีอาการใดแทรกซ้อนหรือไม่
สำหรับประวัติเสี่ยงการติดเชื้อคือ ช่วงวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2564 ลูกชายและครอบครัว ซึ่งทำงานอยู่บริษัทรถยนต์ในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางกลับมาเยี่ยมและพักที่บ้าน ระหว่างนั้นผู้ป่วยยังไปขายผักตามปกติ และวันที่ 7 มกราคม ไปร่วมงานแต่งที่ตำบลโพธิ์ศรี อำเภอพิบูลมังสาหาร และเริ่มป่วยในวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ทีมสอบสวนโรคจึงโทรศัพท์แจ้งลูกชายและครอบครัวที่เดินทางมาเยี่ยมในช่วงปีใหม่ให้ไปรับการตรวจหาเชื้อในภูมิลำเนาที่อยู่ ส่วนภรรยา รวมกับคนในครอบครัว 4 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอำเภอวารินชำราบ 26 คน รวมทั้งผู้ป่วยที่มานอนรักษาตัวด้วยกัน 5 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอำเภอสว่างวีระวงศ์ 10 คน ให้กักตัวดูอาการเป็นเวลา 14 วัน
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำตามไทม์ไลน์ของผู้ป่วยที่เดินทางไปขายผัก ร่วมทั้งงานแต่ง รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ใกล้บ้าน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการในระยะนี้ด้วย ทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้านก่อน หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากตลอดเวลา แต่ดีที่สุดคือให้อยู่กับบ้านไปก่อน
ส่วนที่เชียงใหม่ เมื่อเย็นวานนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) จังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ว่าเชียงใหม่พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 1 ราย เป็นผู้ป่วยรายที่ 64 ของเชียงใหม่ เบื้องต้นสอบสวนโรคพบว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง รอแถลงผลสอบสวนโรค รวมถึงรายละเอียดไทม์ไลน์ผู้ป่วยต่อไป .-สำนักข่าวไทย