กรุงเทพฯ 7 ม.ค. – ก.คมนาคมเดินหน้า “แบริเออร์ยาง-เสาหลักนำทาง”เพื่อความปลอดภัยทางถนนต่อเนื่อง ด้าน คมนาคม-ทล.-ทช. ประสานเสียงเตรียมสรุป ภาพรวมโครงการ-คุณสมบัติยาง-ราคากลาง ก่อนเสนอ ครม.ในสิ้นเดือน มกรา 64 นี้ ก่อนของบกลางปี 64 เดินหน้าโครงการต่อ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ว่า จากที่ได้มีการประชุมร่วมกับ กรมทางหลวง(ทล.) , กรมทางหลวงชนบท(ทช.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้นได้ให้แต่ละหน่วยงานสรุปประเด็นความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยในการนำโครงการมาปฎิบัติ และความต่อเนื่องของโครงการ ก่อนที่จะมีการเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค.64 นี้ เพื่อเตรียมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณต่อไป
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า จากที่มีการประชุมร่วมกันในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทาง ทล. จะต้องเร่งสรุปในเรื่องของราคากลางของยางที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการในโครงการต่อเนื่องต่อไป มั่นใจว่าการดำเนินการในโครงการจะต่อเนื่องไม่มีปัญหาในการปฎิบัติแต่อย่างใด โดยในปัจจุบันในส่วนของความรับผิดชอบถนนของ ทล.ติดตั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต ในปีงบ 63 ดำเนินการไปแล้วกว่า 157 กม. ส่วนปี 64 จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 70 – 80 กม. ส่วนเสาหลักนำทางยางธรรมชาตินั้น ในปี 2563 ดำเนินการติดตั้งไปแล้วในวงเงินกว่า 200 ล้านบาท ส่วนปี 2564 จะมีการดำเนินการของบกลาง รวม300 ล้านบาท เพื่อมาติดตั้ง จากทั้งหมดต้องมีการติดตั้งกว่า 200,000 ต้น
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่าในส่วนของการ ก่อสร้าง แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช.นั้น งานในเฟสที่ 1 ที่จะมีการดำเนินการ ทั่วประเทศคิดเป็นระยะทาง 344 กิโลเมตรนั้น ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จในสิ้นภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่ง ทช. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้กระทรวงคมนาคมนำรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และเตรียมดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลดำเนินการในเฟสต่อไป โดยเชื่อว่าโครงการหลังจากนี้จะสามารถเดินหน้าได้เร็วขึ้น หลังมีการแก้ไขกฎหมายให้ ทช. สามารถซื้อยางพาราได้โดยตรงจากสหกรณ์การเกษตรต่างๆทั่วประเทศไปแล้ว
ส่วนภารกิจที่ ทช. ได้รับมอบหมาย ให้มีการตรวจมาตรฐานของโรงงานผลิตแผ่นยางพาราของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่างๆนั้น ขณะนี้จากทั่วประเทศจำนวน 10 โรงงานสามารถตรวจผ่านมาตรฐานแล้ว 5 โรงงาน และคาดว่าจะครบทั้งหมดในเร็วๆนี้
อธิบดีกรมทางหลวงชนบทยืนยันด้วยว่าโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) ถือเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยพยุงราคารับซื้อยางพาราของเกษตรกรได้ตลอดปี 2563 เนื่องจากถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าจะมีการนำวัตถุดิบจากยางพารามาใช้ประโยชน์ในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย