วันขึ้นปีใหม่ไทย เดิมไม่ใช่ 1 มกราคม

สำนักข่าวไทย 1 ม.ค. 64 – “สวัสดีปีใหม่” ทุกคนนะคะ เข้าสู่ปี พ.ศ. 2564 ขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว แต่รู้ไหมคะว่าเดิมวันขึ้นปีใหม่ไทยไม่ใช่ 1 มกราคม แล้วเรากำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ไปดูกันเลยค่ะ

Highlight ประวัติวันขึ้นปีใหม่

  • เดิมไทยเรานับเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่
  • พ.ศ. 1901 (จุลศักราช 720) กำหนดให้เดือน 5 เป็นการพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ที่หมายถึงขึ้นปีใหม่
  • สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 สันนิษฐานได้ว่าคงจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปีนักษัตรเป็นหลัก 
  • พ.ศ. 2417 เกิดประเพณีการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนชาวบ้านถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่
  • พ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน 
  • พ.ศ. 2477 ประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน เพื่อฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซา
  • พ.ศ. 2484 มีมติให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม

เดิมวันขึ้นปีใหม่คือวันไหน?

ก่อนที่จะไปหาคำตอบว่าเรานับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ไปดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่าเดิมวันขึ้นปีใหม่เราตรงกับวันอะไร


เดิมไทยเรานับเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนโบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน และเดือนอ้ายก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นเดือนแรก ที่กำหนดเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปีสันนิษฐานว่าเพราะในระยะเวลาระหว่างนั้นอยู่ในฤดูหนาว พ้นจากฤดูฝนซึ่งอากาศมืดมัวมาเป็นสว่างเหมือนเวลาเช้าจึงได้นับเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี

เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ก็ไม่ได้กําหนดเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แต่กำหนดไว้ว่าเป็นเดือน 5 การพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ที่หมายถึงขึ้นปีใหม่


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 สันนิษฐานได้ว่าคงจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปีนักษัตรเป็นหลัก และในรัชกาลที่ 5 ได้เกิดประเพณีการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2417 ดังปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนตามแบบชาวบ้านถือเอาวันสงกรานต์เป็นหลัก

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่ไม่ได้กําหนดแน่นอนจนกว่าโหรจะได้คํานวณวันแล้วประกาศให้ทราบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพิจารณาเห็นความลําบาก จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ โดยให้เลิกใช้จุลศักราชในทางราชการ เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก เริ่มในปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432) เป็นต้นมา และเรียกชื่อเดือนว่าเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ ตามทางสุริยคติเป็นครั้งแรก รวมทั้งเรียกวันเป็นวันที่ 1 วันที่ 2 ฯลฯ ด้วย แต่ก็ยังให้ใช้วันเดือนปีตามจันทรคติคือวันขึ้นแรม เดือนอ้าย เดือนยี่ และปีชวด ฉลู หรือจุลศักราชต่อไปได้ เพราะเป็นหลักทางโหราศาสตร์ซึ่งราษฎรเคยใช้มาแล้ว

สรุปได้ว่า สมัยโบราณไทยอาจนับเอาวันแรม เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 รวมทั้งมีวันสงกรานต์ด้วย ต่อมาในพ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ในปี ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าปีรัตนโกสินทรศกนับย้อนไปในอดีตได้เพียงร้อยปีเศษเท่านั้นไม่พอใช้จึงโปรดเกล้าฯให้เลิกใช้รัตนโกสินทรศก ให้ใช้พุทธศักราชแทนส่วนวันเดือนปีคงใช้ไปตามเดิม 

การกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนจะถือกันเคร่งครัดเฉพาะในวงราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านทั่วไป ยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2475 แล้ว ราชการพิจารณาว่าควรฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซาไปนานให้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก 

ไทยกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร?

ตามที่ได้บอกไปว่าในปีวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้มีการประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่เพื่อฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซา แต่การฟื้นฟูทำได้ไม่กี่ปี คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มต้นใน พ.ศ. 2484

สำหรับ “วันขึ้นปีใหม่” 1 มกราคม 2564 ที่จะถึงนี้ ทีมงานสำนักข่าวไทยขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกันนะคะ สวัสดีปีใหม่ค่ะ.-สำนักข่าวไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก : สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย.เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2563, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_31026

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ชนแล้วหนี! 2 หนุ่มกลัวถูกจับดึงสลักระเบิดดับ

2 หนุ่มชนแล้วหนี โบกรถมาขึ้นสามล้อเครื่อง ตำรวจตามกระชั้นชิด ตัดสินใจดึงสลักระเบิด แต่สะดุดล้มระเบิดตูมสนั่นดับ 1 ส่วนอีกคน ถูกจับโดยละม่อม

“ไบเดน” เปิดทำเนียบขาวต้อนรับ “ทรัมป์” ถกถ่ายโอนอำนาจ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเปิดห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวหารือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ซึ่งต่างให้คำมั่นการถ่ายโอนอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม” ชวนลงทุนคล้าย forex เสียหายกว่า 60 ล้าน

“อี้ แทนคุณ” เผยคดีใหม่ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ชักชวนลงทุนในดูไบ คล้าย forex ความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ขณะที่อีกฝ่ายอ้างนำเงินไปลงทุนจริงแต่ขาดทุน

ข่าวแนะนำ

เริ่มแล้ว ประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงเชียงใหม่

ประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง จ.เชียงใหม่ ปีนี้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยแสงสีจากแสงไฟที่ประดับไปทั่วเมือง และความงดงามทางวัฒนธรรมมากมาย ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย

“จิราพร” สั่งตรวจสอบปมคลิปเสียงอ้างชื่อ-จ่อแจ้งความเอาผิด

“จิราพร สินธุไพร” ยืนยันไม่รู้จักนักร้องเรียนหญิง ที่แอบอ้างว่าเป็นคณะทำงาน ประสานฝ่ายกฎหมายเร่งตรวจสอบคลิปเสียง เพื่อแจ้งความดำเนินคดี

“หนุ่ม กรรชัย” เข้าให้ปากคำปมถูกอ้างชื่อเรียกรับเงินบอส “ดิไอคอน”

“หนุ่ม กรรชัย” เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ให้ปากคำกรณีถูกแอบอ้างชื่อเรียกรับเงินผู้บริหาร “ดิไอคอน”

เขากระโดง

“อนุทิน” ยันเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ไม่เคยขัดแย้งปมเขากระโดง

“อนุทิน” ย้ำพรรคร่วมรัฐบาลมีเป้าหมายเหมือนกัน ทำประโยชน์ให้ประชาชน-ประเทศ หลัง “ทักษิณ” ชมพรรคร่วมสามัคคีกันดี ยันเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ไม่เคยขัดแย้งปมเขากระโดง ขอคนไม่อยู่ในวงอย่าคาดคะเน ชี้ไม่มีเหตุผลต้องปกป้องผลประโยชน์ใคร โอดกว่าจะนั่งคุม มท. แทบตาย ไม่ให้ใครมาด่าสาดเสียเทเสีย