กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ธ.ไทยพาณิชย์ เดินหน้าแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ตั้งเป้าลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี พร้อมเปิดตัวโครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 ชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้ธุรกิจอยู่รอดได้
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธุรกิจเอสเอ็มอียังคงเผชิญความท้าทายสำคัญจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ตามด้วยต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ความกังวลทางเศรษฐกิจ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งใหม่ๆ
แต่ด้วยแนวคิด ธนาคารไทยพาณิชย์ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยประกาศแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนผ่าน 2 โครงการ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี หากผ่านมาตรฐานคาร์บอนเครดิตลดดอกเบี้ยให้อีก 1% ในแรก และ 2. โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน โดยผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม , สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ , และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และเชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจและใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่นๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว รวมถึงการให้ทุนสนับสนุน เอสเอ็มอีเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน
นางพิกุล เชื่อว่า ด้วยแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” จะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพิ่มความตระหนักรู้และเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องคำนึงถึง ESG ให้มีโอกาสรอดก่อน และนำมาซึ่งโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ การดึงดูดนักลงทุนและลูกค้ายุคใหม่ โดยตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายทั้งในรูปแบบสินเชื่อ การจัดกิจกรรมสัมมนาและหลักสูตรการให้ความรู้ต่างๆ ส่งผลให้การบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2567 พอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีจำนวน 250,893 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2566
จุดอ่อนของเอสเอ็มอีในการปรับตัวเข้าสู่กระแส ESG มี 5 ข้อใหญ่ได้แก่ ขาดความรู้และความเข้าใจ, กังวลต่อต้นทุนที่จะสูงขึ้นจากการปรับตัว, เงินทุนและสภาพคล่องที่อาจไม่เพียงพอ, คู่ค้ายังไม่ให้ความสำคัญและอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ และความตระหนักรู้ของพนักงานค่อนข้างจำกัด ธนาคารจึงได้นำเสนอสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยนับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบันอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปมากกว่า 3,000 ล้านบาท
โดยวางเป้าหมาย ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2567 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท และปี 2568 จำนวน 6 หมื่นล้านบาท แต่จะเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะปรับตัวทางโครงสร้างรายได้และโครงสร้างต้นทุนในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของแต่ละราย
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี ส่งผลให้ลูกหนี้ในกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) อยู่ในอัตราคงที่ ทำให้ตั้งเป้าหนี้เสีย หรือ NPL ในปีหน้า อยู่ในระดับไม่เกิน 3% หรือ 2.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง 3.5 พันล้านบาท ซึ่งรวมถึงเอสเอ็มอีกลุ่มเปราะบางที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ อยู่ในกลุ่มธุรกิจซื้อมาขายไปกระจายตามอุตสาหกรรมต่างๆ
สำหรับการพิจารณาการแฮร์คัทหนี้ที่เกิดในช่วงโควิด-19 หรือการลดการนำเงินส่งกองทุน FIDF รวมถึงมาตรการช่วยลูกหนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอี จะมีการพิจารณาผู้ประกอบการเป็นรายๆไปตามสถานการณ์ แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องลุกขึ้นมาปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ บวกกับ มาตรการทางภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี และการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในโครงการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่ช่วยเอสเอ็มอีไทยทั้งสิ้น.-516-สำนักข่าวไทย