กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินนโยบายเร่งด่วนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลบวกธุรกิจกลุ่มบริโภค-ท่องเที่ยว-เกษตร ชี้ Digital Wallet ปรับเป้าหมายเฉพาะกลุ่มเหมาะสม แต่กระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว ดันจีดีพีปี 68 เพิ่ม 0.5-0.7% ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่ คาด กนง.เริ่มลดดอกเบี้ย ธ.ค. ต่อเนื่องต้นปีหน้าอยู่ที่ 2% ประเมินน้ำท่วมเชียงรายเสียหาย 400 ล้านบาท
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังจากเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ภาพรวมทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.7% และมีแนวโน้ม Soft landing ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.8% ในปี 2568 แม้ว่าขณะนี้ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็วจนเข้าเกณฑ์ของดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะ Soft landing ยังมีสูงกว่ามาก หากดูจากแรงส่งที่ดีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรก และข้อมูลเร็วสะท้อนการขยายตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นเร็ว โดยในช่วงที่เหลือของปี 2567 และ 2568 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2.0% และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกรวม 1.50% อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดัน ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ การออกมาตรการกีดกันระหว่างประเทศ ทั้งนี้การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งทั่วไปปลายปีนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้า
สำหรับเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินปี 2567 ยังคงขยายตัวต่ำที่ 2.5% แต่สิ่งที่อยากเน้นปี 2568 ปรับ GDP ลงมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ถือว่าโตเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 ที่ 39.4 ล้านคน โดยการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ ขณะที่การส่งออกไทยปี 2568 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ซึ่งนอกจากเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ยังมาจากปัญหาเชิงวัฏวักรที่เข้ามาฉุดเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ส่งผลต่อภาคการผลิตในประเทศที่ลดลง การตึงตัวของภาคการเงิน และนักลงทุนชะลอการลงทุน ซึ่งในอนาคตระยะสั้น หน่วยงานภาคธนาคาร ภาคการเงิน และภาคการคลังต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานโยบายทางการเงินและการคลัง เพื่อช่วยกันประคองเศรษฐกิจไม่ให้หมุนลง ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
ขณะที่โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีการปรับวัตถุประสงค์มาเป็นการใช้เงินเฉพาะกลุ่ม SCB EIC มองว่าเหมาะสมมากกว่าการเหวี่ยงแห ซึ่งจะทำให้คนกล้าที่จะใช้จ่ายมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพีปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.5-0.7% ส่งผลให้จีดีพีขึ้นมาแตะในระดับ 3% แม้ใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570
นายสมประวิณ ย้ำว่าปัญหาหนี้ครัวเรือน คือปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้ สัดส่วนหนี้อยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกจำนวนมาก บวกกับหนี้ภาคเอกชน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้หนี้ครัวเรือนที่ออกมาหลายรูปแบบทั้ง หนุนสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ การลดเงินนำเข้า FIDF และการแฮร์คัทหนี้ โดยมองว่าหลักการสำคัญในการแก้หนี้ต้องคำนึงถึง Moral Hazard เพื่อให้ระบบการเงินเดินหน้าถูกต้อง และสถาบันการเงินจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ร่วมกันแก้หนี้ พร้อมทั้งต้องเตรียมแนวทางเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขี้นในอนาคต
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนของ ครม. ชุดใหม่เป็นการสานต่อนโยบาย ครม. ชุดก่อน โดยมีจุดเน้นมากขึ้นที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจกลุ่มเปราะบาง SCB EIC ประเมินชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลก และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว
นอกจากนี้ SCE EIC ยังประเมินผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่จ.เชียงรายล่าสุด นับรวมเป็นมูลค่าครั้งที่ 7 มูลค่าความเสียหายในภาคการเกษตร จากเดิม 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท
SCB EIC ยังประเมิน กนง. มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 และ 2568 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34 – 34.5 และ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ. -516-สำนักข่าวไทย