กรุงเทพฯ 16 ธ.ค.-กรมการแพทย์พัฒนาโปรแกรมเชื่อมต่อข้อมูลโรคมะเร็งทั่วประเทศ ยืนยันพร้อมใช้ 1ม.ค.64 ย้ำ รพ.13 เขตสุขภาพพร้อมขานรับนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” แนะ ประชาชนเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อความสะดวก
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.64 นั้น กรมการแพทย์จะรับผิดชอบใน 2 ส่วน ได้แก่ การจัดระบบบริการร่วมของโรงพยาบาลทั้งในและนอกเครือข่าย สธ. และการเตรียมระบบข้อมูลในการส่งต่อผู้ป่วยโดยไม่ใช้ใบส่วนตัว ตลอดจนข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายด้วย
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีหลักสูตร nurse coordinator หรือพยาบาลช่วยประสาน ซึ่งจะช่วยให้ความรู้กับผู้ป่วยว่าโรคมะเร็งชนิดใดต้องรักษาแบบใด รักษาที่ใดได้บ้าง ถ้าต้องข้ามจังหวัดจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลก็จะได้ทราบว่าโรงพยาบาลนั้นๆ รักษาอะไรได้บ้าง รอคิวนานเท่าใด หรือผู้ป่วยยังสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนได้อีก ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านและมีศักยภาพในการรักษาโรคได้
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมี “Thai cancer base” เป็นโปรแกรมช่วยลงทะเบียนคนไข้ว่าเป็นโรคมะเร็งชนิดใด รักษาโดยอะไร วิธีไหนบ้าง โปรแกรมนี้จะช่วยออกแบบข้อมูลที่จำเป็นในการรักษาให้กับแพทย์และเก็บไว้ในระบบคลาวน์ ฉะนั้นไม่ว่าผู้ป่วยจะรักษาที่โรงพยาบาลใด แพทย์ก็จะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันกรมการแพทย์ยังได้พัฒนาโปรแกรม “the one program” ซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีเครื่องมือใดบ้าง มีศักยภาพในการรักษาเรื่องใดได้บ้าง มีคนไข้ในคิวเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ พยาบาล และคนไข้ ได้รับข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะไปรักษาโรงพยาบาลใดที่เร็วที่สุด มีความพร้อม ไม่แออัด
สำหรับระบบการจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งโรงพยาบาลทุกระดับในต่างจังหวัด กรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะเป็นผู้สนับสนุน โดยข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดระบบซึ่งเป็นสิ่งที่กรมการแพทย์เตรียมไว้แล้ว
นพ.ณัฐพงศ์ ยังกล่าวถึงความพร้อมของระบบว่า ในส่วนของระบบบริการนั้น มีความพร้อมและที่ผ่านมาก็ให้บริการประชาชนมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ขณะนี้จะมีการพัฒนาและทดลองโปรแกรม Thai cancer base plus อยู่ ซึ่งจะใช้ได้ทันวันที่ 1 ม.ค.64 อย่างแน่นอน
ในส่วนของโปรแกรมthe one programจะทดลองใช้ภายในกรมการแพทย์และกทม. ก่อน จากนั้นก็จะให้โรงพยาบาลอื่นๆ เริ่มลงข้อมูล คิดว่าอย่างน้อยในวันที่ 1 ม.ค.นี้ จะสามารถใช้งานในส่วนที่จำเป็นก่อนได้ เช่น การฉายแสงในเขต-นอกเขต ที่เหลือจะเป็นเรื่องของต้นทางคือโรงพยาบาลนั้นที่จะมีความพร้อมที่จะจัดระบบตัวเอง ที่จะปล่อยข้อมูลออกมาหรือไม่
“ในวันหนึ่งข้างหน้าถ้าเราโชคไม่ดีเป็นมะเร็งขึ้นมา อยากให้ความมั่นใจว่าเรามีสถานที่ มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการรักษาท่านได้ทุกที่ ทุกเขตสุขภาพ ส่วนจะไปรักษาที่ไหนนั้น ตามนโยบายอยากให้เลือกใกล้บ้านก่อน เพื่อความสะดวกสบายและแออัดน้อยที่สุด” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย