กรุงเทพฯ 13 ธ.ค.-โอนย้ายสนามบินภูมิภาคมาอยู่ใต้ ทอท.ส่อแววเป็นหมัน หลังติดขัดข้อกฎหมายไม่รองรับ เหตุ ทอท. แปรรูปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านกรมท่าอากาศยาน ต้านสุดตัว! โอนย้ายสนามบินให้ ทอท. หากเปลี่ยนมือผู้โดยสารเจอค่าธรรมเนียมสนามบินเพิ่มขึ้นแน่
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการ โอนย้ายสนามบินในสังกัด กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ว่าจากที่มีการประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.) ,กรมท่าอากาศยาน(ทย.) นั้น ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดความรับผิดชอบในส่วนของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากพบว่ารายละเอียดที่มีการหารือร่วมกันไม่ตรงกันทั้งในเรื่องของข้อกฎหมายที่จะโอน และรับโอน รวมถึงการตีมูลค่าทรัพย์สิน หรือรูปแบบที่ ทอท. เช่าสนามบินจาก ทย.มาบริหารต่อ ทำได้หรือไม่อย่างไร เนื่องจากสนามบินเป็นที่ราชพัสดุ และบางสนามบินอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้
นอกจากนั้นในส่วนของ ทอท. หากทำรายละเอียดก็ต้องชี้ให้เห็นได้ว่า หากรับโอนสนามบินจาก ทย. มาในความรับผิดชอบ ทอท. เพราะอะไร และแนวทางที่จะนำสนามบินมาพัฒนาต่อเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารห้วงอากาศเพื่อประโยชน์ของประเทศอย่างไรได้บ้าง รวมทั้ง การพัฒนาต่อยอดในแต่ละสนามบินที่จะรับโอนก็ต้องระบุให้ชัดว่า สนามบินที่จะรับโอนจะมาพัฒนาเพื่อเป็นสนามบินท้องถิ่น หรือ สนามบินที่จะรับโฮนมาพัฒนาเพื่อเป็นเกตเวย์ไปที่ไหน หรือ หากจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค จะมีรายละเอียดแนวทางอย่างไร ทั้งนี้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับมาเสนอและประชุมอีกครั้งต้นปีหน้า
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) กล่าวว่า จากที่มีการประชุมเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปการโอนย้ายสนามบินในสังกัด ทย.มาอยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ได้เนื่องจากเมื่อพิจารณาในแง่ของข้อกฎหมายพบว่า เดิม ทอท.ก่อนที่จะมีการแปรรูป มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับกฎหมายของ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้จะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่รัฐบาลก็ถือหุ้น 100%เต็ม แต่ในปัจจุบัน ทอท. เป็นบริษัท จำกัด(มหาชน) หากมีการโอนย้ายทรัพย์สินสนามบินซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ คือกรมธนารักษ์ จะไม่สามารถดำเนินการ
ส่วนแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ คือ การเช่าบริหาร ซึ่งแนวทางนี้มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน แต่ต้องมาดูในรายละเอียดว่า 1.หากมีการเช่าบริหารแล้ว ทอท.สามารถเช่าตรงได้ที่ ทย.ได้หรือไม่ หากเช่าสนามบินตรงที่ ทย. การจ่ายค่าบริหารสนามบิน ทอท. จะต้องจ่ายที่ ทย. หรือกรมธนารักษ์ 2.รูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาระหว่าง ทอท. กับ ทย. เพื่อขอเช่าสนามบินจาก กรมธนารักษ์ ซึ่ง ทอท.ต้องไปศึกษารายละเอียดรูปแบบให้มีความชัดเจนภายใมน 2 สัปดาห์ก่อนไปประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาข้อสรุป
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ในประเด็นการโอนย้ายสนามบินในกำกับดูแลของ ทย.จำนวน 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ สนามบินชุมพร และสนามบินบุรีรัมย์ ให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นั้น ทาง ทย. จะเดินหน้าคัดค้านนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีประเด็นสำคัญอยู่ 2-3 ประเด็น คือ การบริหารท่าอากาศยานในกำกับดูแลของ ทย. ขณะนี้ เป็นไปในลักษณะที่มีท่าอากาศยานหลายแห่ง และเป็นการจัดการเชิงโครงสร้าง โดยจะมีทั้งท่าอากาศยานที่มีกำไร และท่าอากาศยานที่ไม่ได้มีกำไรแต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้จังหวัดนั้นๆมีท่าอากาศยานให้บริการอยู่ ดังนั้น ทย.ก็จัดการโดยการนำรายได้จากท่าอากาศยานที่กำไร ไปหล่อเลี้ยงท่าอากาศยานอื่นๆ แต่หากมีการโอนย้ายท่าอากาศยานที่มีกำไร ออกจาก ทย. ไป จนรายได้ลด จนมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ท่าอากาศยานทุกแห่งมีผลดำเนินการติดลบ ท้ายที่สุดก็ต้องเป็นภาระภาษีของประชาชน ต้องเอางบประมาณมาดูแลบำรุงรักษาท่าอากาศยานทุกแห่ง
ส่วนประเด็นที่มีความเห็นของผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ต้องการให้โอนย้ายสนามบินไปอยู่กำกับ ของ ทอท. โดยเห็นว่าจะช่วยทำให้การจัดการบริการ และบริการแก่ประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ ทย. ระบุว่า การที่เข้าใจว่าหากท่าอากาศยานอยู่ในกำกับดูแล ของ ทอท. จะกลับมามีประสิทธิภาพเป็นเรื่องเข้าใจผิด ที่ผ่านมาธุรกิจของ ทอท. เป็นธุรกิจผูกขาด สนามบินที่อยู่ในกำกับดูแล ก็เป็นสนามบินที่เป็น gateway ของประเทศ การบริหารจัดการไม่ต้องใช้ฝีมืออะไร ก็มีกำไรได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของค่าธรรมเนียมบริการผู้โดยสาร ขาออก หรือ Passenger Service Charge (PSC) ซึ่งปัจจุบันนี้ ทย. และ ทอท. จัดเก็บในราคาต่างกัน (ทอท.สูงกว่า) หากมีการโอนย้ายสนามบินของ ทย. ไป ทอท. สนามบินทั้ง 4 แห่ง ก็จะสามารถปรับขึ้นค่า PSC ได้ทันที แค่เปลี่ยนป้ายหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น ซึ่งภาระค่า PSC นี้ ก็ตกเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนผู้ใช้ท่าอากาศยานอยู่ดี.-สำนักข่าวไทย