กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – กลุ่ม ปตท.ประเมินราคาน้ำมันปีหน้าขึ้นอยู่กับปัจจัยคุมโควิด-19 ส่งผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจโลก ประเมิน 2 ทิศทางราคา อยู่ในช่วง 35-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ด้านซีไอเอ็มบีแนะแบงก์ชาติคุมเงินบาท หากแข็งค่ามากกระทบเศรษฐกิจหนัก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์ 2020 The Annual Petroleum Outlook Forum ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “The Great Reset : เมื่อโรคปฏิวัติโลก… เจาะลึกจุดเปลี่ยนโลกพลังงาน” ซึ่งทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท. หรือ PRISM Expert ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้น เพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความท้าทายของพลังงานในอนาคตที่ต้องเผชิญ เพื่อมุ่งสู่การสร้างพลังงานที่ยั่งยืนให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน นักการเงินการธนาคาร สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไป
นายอรรถพล กล่าวว่า ภาวะราคาน้ำมันปีหน้าขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดี การใช้น้ำมันก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้ทั้งยอดใช้น้ำมันและราคาลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) โลก คาดจะติดลบร้อยละ 4.4 ส่วนไทยขณะนี้มีการประเมินกันว่าจะติดลบประมาณร้อยละ 6-10
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า ทิศทางของตลาดน้ำมันโลก ว่า “COVID-19 เป็น “The Great Reset หรือ จุดเปลี่ยนสำคัญ” ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปี 2563 ปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติกาล ส่งผลให้หลายฝ่ายรวมถึงผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกัน เพื่อหาทางรักษาสมดุลให้กับตลาดน้ำมัน โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คือ การผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และนโยบายการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยสร้างสมดุลการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ PRISM Expert ทั้งจาก ปตท.,ไทยออยล์ ,ไออาร์พีซี และจีซี ประเมินว่า จากเศรษฐกิจโลกหดตัวหนักในปี 2563 คาดความต้องการจะลดลง 8.6 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนปี 2564 เศรษฐกิจและการค้าโลกปีหน้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักคือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่จะเกิดจากประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะผลิตออกมา รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายของผู้นำประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐ จีน ความร่วมมือของกลุ่มโอเปก-พลัส ในการดูแลสเถียรภาพราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ กรณีควบคุมโควิด-19 ได้ดีในปี 2564 คาดจีดีพีโลกอาจจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะขยายตัว 5.3 ล้านบาร์เรล/วัน คาดจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และกรณีเศรษฐกิจโลกแย่จีดีพีโลกปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 ความต้องการใช้น้ำมันจะขยายตัว 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน คาดจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ทีม PRISM Expert ยังระบุว่า โควิด-19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างรวดเร็ว แพลทฟอร์มการค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขยายตัวยอดค้า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านล้านเหรียญในปี 2568 มีสัดส่วนการค้าโลกถึงร้อยละ 23 โดยเทคโนโลยี 5 จี จะมีส่วนเชื่อมการค้าโลก การเงินเข้าด้วยกัน ธุรกิจด้านดิจิทัลจะก้าวกระโดด ธุรกิจหุ่นยนต์จะไม่ได้เข้ามาทดแทนคน แต่จะมีบทบาทร่วมกับมนุษย์ในหลากหลายอุตสาหรรม
โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทนจะขยายตัว ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ก็จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งทิศทางกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ ก็จะมีบทบาท ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าไต้หวันคุมโควิด-19 ได้ดี และเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วก็เป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีที่เข้ามาติดตามและร่วมควบคุมโลกได้ดี
นอกจากนี้ ในอนาคต จากความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy ) จะมีบทบาทเพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เนื่อง เช่น ไบโอพลาสติก และอื่น ๆ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวร้อยละ 6-7 ปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 -4.5 และมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาปกติใน 2 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยที่ต้องจับขึ้นกับ 4 เรื่องหลัก คือ REST ประกอบด้วย 1.Reshuffle ความชัดเจนในการปรับ ครม. มีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีการมองประเทศไทยเหมือนกับกระทะเคลือบเทฟร่อน ซึ่งแม้จะมีปัญหาการเมืองบ่อยครั้ง แต่เศรษฐกิจก็ไม่ติดขัดกับการเมือง การฟื้นตัวยังคงต้องพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ ก็จะเห็นว่าไทยเริ่มฟื้นตัวจากจากการท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ส่วนการบริโภคและการลงทุนก็ต้องใช้เวลา
2.Exchange Rate เงินบาทที่แข็งค่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการเมือง ดังนั้น หากปีหน้าแข็งค่ามากก็อาจจะทำให้จีดีพีไม่โตตามคาด เพราะกระทบ รายได้ของประเทศที่จะมาจากการส่งออกและท่องเที่ยว ความสามารถการแข่งขันของไทยจะลดลง จึงคาดหวังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามดูแลเคลื่อนไหวของเงินบาทให้เป็นไปตามค่าเงินในภูมิภาค เช่น เวียดนาม มาเลเซีย 3.Second Wave การดูแลไม่ให้โควิด -19 กลับมาระบาดรอบใหม่ 4 Trade War การส่งออกจะดีขึ้น ถ้าเกิด Trade Deal ซึ่งต้องจับตาดูผู้นำจีนและสหรัฐ จะมีข้อตกลงอะไรออกมาหรือไม่ ซึ่งไทยไม่ควรเลือกข้างว่าจะอยู่ฝั่งใด
“เศรษฐกิจไทยไม่ถึงทางตัน เราจะผ่านโควิด-19 ไปด้วยกัน จะเห็นได้ว่าไตรมาส 3/63 เริ่มฟื้นตัว และไทยยังมีศักยภาพในปีหน้ากับ 4 อ. ได้แก่ ธุรกิจ อาหาร , อายุ-ผู้สูงวัย ,อาเซียน และอัตราดอกเบี้ย ต่ำ ลากยาว สภาพคล่องล้น ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว.-สำนักข่าวไทย