กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – สุริยะ เผยรถเก่าแลกรถใหม่ จะเป็นนโยบายที่ออกมาเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย ส่วนเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว นโยบายรถเก่าแลกรถใหม่อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยจะต้องหารือกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ด้วย โดยเชื่อว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเร่งรัดโครงการนี้ออกมาให้ทันเป็นของขวัญปีใหม่นี้ พร้อมมองว่า รองนายกรัฐมนตรีดูแลกระทรวงการคลังอยู่แล้วเมื่อออกนโยบายมา ก็จะสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเชื่อว่า การที่สหรัฐฯได้นายโจ ไบเดนมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ และได้แถลงนโยบายชัดเจนว่า ไม่เน้น นโยบายต่างประเทศ “อเมริกามาก่อน (America first policy)” แต่จะไปร่วมมือกับทุกประเทศ นโยบายใหม่นี้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการขยายโอกาสในการพัฒนาเศรฐษกิจและการส่งออกด้วย
นายสุริยะ ยังกล่าวเปิดงานสศอ. (OIE FORUM) พ.ศ. 2563 จัดขึ้นในหัวข้อ New Perspective of Thailand Industry มองมุมกลับ ปรับมุมคิด พลิกวิกฤตอุตสาหกรรมไทย พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “มุมมองใหม่ของอุตสาหกรรมไทย หลังสถานการณ์โควิด-19” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นทั้งวิกฤตและประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการที่ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี สร้างความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเติบโตส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังสามารถปรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผลิตหน้ากากอนามัยและชุด PPE ช่วยสร้างโอกาสส่งออกแก่ไทย แต่จะต้องร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขออกใบรับรองสร้างความมั่นใจประเทศผู้ซื้อต่อไป
สำหรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังสถานการณ์โควิด-19 ควรส่งเสริมการผลิต การส่งออกสินค้าศักยภาพที่สร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในประเทศ อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรค ทั้งเครื่องมือแพทย์และสิ่งทอทางการแพทย์ (Medical Textile) พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เช่น ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนายกระดับทักษะความสามารถของแรงงานไทย พัฒนาบุคลากรให้มี Digital Skills, Highly-skilled และ Multi-skilled รวมถึงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอนาคต
ขณะเดียวกันเป็นต้องขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ (Smart Products) ด้วยการนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design) และการออกแบบระบบสมองกลฝังตัว (Embedded system) เชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย IoT (Internet of Things) โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ New Normal อย่างกลุ่ม Medical Service Robot หรือกลุ่ม Smart Farming เป็นต้น
ด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตาก สงขลา และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ใน EEC ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสแรกของปี 2564 เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เน้นใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยคาดว่าการลงทุนในนิคมฯ นี้จะสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อปีได้ประมาณ 52,000 ล้านบาท และสร้างการจ้างงานได้กว่า 7,400 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,300 ล้านบาท
ด้านการส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการผ่านโครงการ Factory 4.0 การยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ด้านการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก
ประเด็นสุดท้าย แต่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวนโยบายข้างต้น จะมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม องค์กรภาคเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคประชาชน จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันปรับปรุงและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและการประกอบการต่อไป .-สำนักข่าวไทย