สำนักงาน กกต. 4 พ.ย.- กกต.ให้แนวทางคัดค้านเลือกตั้งท้องถิ่น เตือนเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 กดไลค์ กดแชร์ โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง ถือเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัคร ไม่ควรกระทำ เพราะอาจเป็นเหตุให้ถูกร้อง
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร.ต.อ.มนูญ วิเชียรนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงในระหว่างให้ข้อมูลเลือกตั้งท้องถิ่นกับสื่อมวลชน ถึงการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 คน หรือผู้สมัคร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอในเขตเลือกตั้งนั้น มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อ กกต.ได้ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งยื่นที่สำนักงาน กกต.จังหวัดดีที่สุด เพราะหากยื่นที่ สำนักงาน กกต.ส่วนกลางก็จะต้องส่งให้ กกต.จังหวัดเหมือนเดิม ระยะเวลาในการยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง 26 ตุลาคม จนถึง 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง
ร.ต.อ.มนูญ กล่าวว่า ส่วนการคัดค้านเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะมีเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้ง จนถึง 180 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง นอกจากนั้นการคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านระหว่างเวลาที่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนน ให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครพบว่ามีคะแนนสูสีกันแล้วจึงมาร้องคัดค้าน โดยที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้เมื่อ กกต.ได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว ก็จะดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน เพื่อหาข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการต่อไป
เมื่อถามว่ากรณีข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กดไลค์ กดแชร์ โพสต์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง จะถือเป็นกรณีตามมาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 หรือไม่ ร.ต.อ.มนูญ กล่าวว่า การแชร์ถือเป็นการหาเสียงให้ผู้สมัครอยู่แล้ว ซึ่งการกดไลค์ กดแชร์ ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุให้ถูกร้องได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงที่จะกระทำ ส่วนผู้ที่จะชี้ว่าผิดหรือถูกคือ กกต..-สำนักข่าวไทย