กสม.3 พ.ย.- ร้อง กสม.คุ้มครองสิทธินักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผิดหวัง กสม.ชุดปัจจุบัน เพิกเฉยต่อหน้าที่ วอนทำงานเชิงรุก พี่สาว “วันเฉลิม” โวย 5 เดือนผ่านมาคดีน้องชายไม่คืบ
เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย น.ส.สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ น.ส.ทิพอัปสร แก้วมณี นักศึกษา ม.รามคำแหง นายศิริ นิลพฤกษ์ และนายดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ กสม.ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ เนื่องจากเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่มีการชุมนุม กสม.ละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักการปารีส ที่เป็นหลักสากลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติบัญญัติไว้
น.ส.ทิพย์อัปสร กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่กลับพบว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนและเยาวชน ในช่วงที่ผ่านมา กลับมีการจับกุมแกนนำ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่แสดงตน มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ไม่ให้สิทธิในการประกันตัว มีความพยายามที่จะขออายัดตัวสอบสวนแกนนำที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งที่แกนนำเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งมีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม สถานการณ์เหล่านี้เปราะบาง และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสังคมคาดหวังจะเห็นบทบาทของ กสม.ในการตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าละเลยเพิกเฉย ทางเครือข่ายรู้สึกผิดหวังและเสียใจ จึงต้องการมาเรียกร้องให้ กสม.ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้
นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ กล่าวว่า นับแต่มีการชุมนุมเกิดขึ้น กสม.ออกแถลงการณ์เพื่อสื่อสารไปถึงรัฐบาลและผู้ชุมนุม มีข้อเสนอแนะให้สองฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ใช้มาตรการที่รุนแรงกับผู้ชุมนุม รวมทั้งให้รัฐดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม ตลอดจนคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกรณีผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว และมีการตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเข้าไปติดตามตรวจสอบ เมื่อมีการชุมนุมทุกครั้งมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลว่ามีการละเมิดสิทธิหรือไม่ เพื่อนำมาจัดทำรายงานข้อเสนอแนะ ของคณะทำงานเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
“ยืนยันว่า กสม.เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มีการร้องเรียนให้ กสม.เข้าไปคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็มีการร้องเรียนทั้ง 2 ฝ่าย กสม.จึงตั้งคณะทำงานเป็นรายกรณี ที่จะต้องรับฟังพยานหลักฐาน ส่วนบุคคลที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งกสม.ได้ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแลในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” นายชนินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงทางแกนนำเครือข่ายก็ได้ยกตัวอย่างการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีนักศึกษารามคำแหงถูกกลุ่มคนเสื้อเหลืองทำร้ายระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผ่านมา 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมคนกระทำผิดไม่ได้ แต่ในกรณีของ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือผู้กองปูเค็ม ถูกทำร้ายร่างกายที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตำรวจกลับจับตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงกรณีการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ประเทศกัมพูชา ผ่านไป 5 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
นายชนินทร์ กล่าวว่า เรื่องของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ส่วนกรณีของนายวันเฉลิม ทาง กสม.ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศในการติดตาม ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดที่ได้รับก็ระบุว่า ทะเบียนรถที่ปรากฏอยู่ในภาพไม่อยู่ในระบบ ขณะเกิดเหตุที่ทำให้นายวันเฉลิมหายตัว ไม่มีใครพบเห็นที่จะเป็นพยานได้ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศก็ได้มีการแจ้งความคืบหน้าให้ทาง กสม.และญาติทราบเป็นระยะ
น.ส.สิตานันท์ กล่าวว่า พรุ่งนี้จะครบ 5 เดือนที่น้องชายหายตัวไป ถ้าถามว่ารัฐบาล และ กสม.ทำอะไรบ้างก็มีแค่การแจ้งข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศดังกล่าว ซึ่ง กสม.เป็นองค์กรอิสระแต่ทำงานใต้รัฐบาล จะเรียกว่าองค์กรอิสระได้อย่างไร วันนี้ที่ตนยังตามหาวันเฉลิม ยังมีความหวังไม่ว่าจะเจอในลักษณะใดก็ตาม
ดิฉันเป็นพี่สาวที่ออกตามน้องชายที่หายไป ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่วันนี้กลับถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ติดตามตัวตลอดเวลา ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด ดิฉันรู้ว่าเป็นหน่วยงานใด มีภาพถ่ายหมด แต่ไม่รู้จะไปร้องหน่วยงานไหน เพราะไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมไทย ขณะแกนนำเยาวชนที่ออกมาชุมนุมตามสิทธิในขณะนี้กลับถูกจับกุมตัวแล้วไม่ให้ประกันตัว อย่างนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน มีคดีติดตัวกว่า 80 คดี ในโลกนี้มีประเทศไหนที่ยัดข้อหาได้ขนาดนี้.-สำนักข่าวไทย